รัฐบาลอัด 6 หมื่นล้านอุ้มเอสเอ็มอี จ่าย 'โคเพย์' เงินเดือนพยุงจ้างงาน
รัฐบาลเตรียม 6 หมื่นล้าน จัดมาตรการโคเพย์ ช่วยเอสเอ็มอีจ่ายค่าจ้างรักษาระดับการจ้างงาน ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการในระบบเริ่ม ก.ย.นี้ ส่วนนอกระบบเป็นระยะต่อไป “เอกชน” ชงรัฐช่วยจ่ายค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท คลุม 3 เดือน
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเอสเอ็มอีกว่า 1 ปี ครึ่ง โดยการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับภาคเอกชนเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 ได้มีเอกชนเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือพยุงการจ้างงานในลักษณะร่วมจ่าย (โคเพย์)
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ภายหลังรัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับควบคุมการระบาดของโควิด-19 ใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด วงเงินรวม 8,500 ล้านบาท และในขณะนี้รัฐบาลกำลังจัดทำมาตรการต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งระบบที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19
สำหรับมาตรการที่จะออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะต่อไปเป็นมาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของเอสเอ็มอี โดยได้เตรียมวงเงินไว้ 60,000 ล้านบาท จากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้สำหรับมาตรการโคเพย์ โดยภาครัฐร่วมจ่ายค่าจ้างให้กับเอสเอ็มอีเพื่อพยุงการจ้างงาน
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้กำหนดเงื่อนไขเอสเอ็มอีที่จะได้รับความช่วยเหลือ จะเป็นเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคม และยื่นภาษีเงินได้ หรือเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่อยู่ในระบบ
ส่วนเอสเอ็มอีและแรงงานนอกระบบจะเร่งจูงใจให้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในระยะถัดไป โดยการให้ความช่วยเหลือจะต้องจำกัดให้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะไปต่อได้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ไม่ใช่เอสเอ็มอีที่มีปัญหาจากการทำธุรกิจมาก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ การกำหนดมาตรการโคเพย์ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นผู้จัดทำรายละเอียดเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 (ศบศ.) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ และหลังจากนี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปรายละเอียดประกอบด้วย
1.ประเภทกิจการ
2.ระยะเวลาการช่วยเหลือ
3.เงื่อนไขเอสเอ็มอีที่จะได้รับการช่วยเหลือ
นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม สำหรับช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อย ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ประกอบการในสาขาบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 (ศบศ.) โดยเร็ว
สำหรับการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชนเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีภาคเอกชนที่ร่วมหารือ ได้แก่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเอกชนเสนอโครงการโคเพย์ค่าจ้างแรงงาน โดยขอให้ภาครัฐช่วยจ่ายค่าแรงหรือเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน และภาคเอกชนเห็นด้วยกับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น และช่วยแรงงานที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและเป็นสถานประกอบการที่ชำระภาษีถูกต้อง
นอกจากนี้ มีข้อเสนอมาตรการคนละครึ่ง–ภาคเอสเอ็มอี โดยให้ภาครัฐช่วยค่าใช้จ่ายเอสเอ็มอี เช่น ลดค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 50% ให้ภาคเอกชนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.5% และภาครัฐรับภาระ 50% โดยภาครัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณและหักลบยอด ค่าใช้จ่ายได้เลย และมาตรการนี้จะผลักดันเอสเอ็มอีเข้าระบบเพิ่มเติมได้เพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเอสเอ็มอี เช่น ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายประกันสังคม ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่าโรงงาน
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวกับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า เห็นด้วยกับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกประเภท ซึ่งแรงงานเอสเอ็มอีในระบบมีประมาณ 6 ล้านคน โดยถ้ารัฐบาลตั้งวงเงินช่วยเหลือไว้ 60,000 ล้านบาท จะเงินได้เพียงคนละ 5,000 บาท ได้ประมาณ 2 เดือน แต่จะไม่เหลือวงเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีนอกระบบเลย ซึ่งเอสเอ็มอีกลุ่มนี้มีความเดือดร้อนมากและควรเข้าไปช่วยเหลือ โดยอาจจะเฉลี่ยการจ่ายเงินเหลือรายละ 2,000 บาท จะช่วยเอสเอ็มอีได้ทั้งในและนอกระบบ แต่การช่วยเหลืออาจจะไม่เพียงพอ
ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม คือ ช่วยเหลือการพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอี โดยต้องให้พักดอกจริงไม่ต้องจ่าย ตอนนี้มีเพียงออมสินรายเดียวที่พักต้นพักดอกจริง และควรพักหนี้ให้กับลูกจ้างของเอสเอ็มอีด้วยเพราะรายจ่ายผ่อนบ้านหรือรถสูง
ส่วนการดึงเอสเอ็มอีนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบเพื่อเข้ารับการช่วยเหลือจากภาครัฐนั้นเห็นด้วย ซึ่งจะทำให้เข้ามาจดทะเบียนทั้งสถานประกอบการและแรงงาน