ตั้ง 'Community Isolation' ใน 23ชุมชนดูแลผู้ป่วยโควิด 19
'สปสช.'จับมือ รพ.ปิยะเวทและเครือข่ายเอกชน ตั้ง 'Community Isolation' แก่ผู้ติดเชื้อโควิด 19 กว่า 1,200 คน และผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ในชุมชน 23 แห่ง พร้อมแจ้งรพ.ที่จัดรถรับผู้ป่วยกลับมารักษาที่ภูมิลำเนา เบิกค่ารถรับส่งได้
ปัญหา เตียงไม่พอ ในกทม.และปริมณฑล ถือเป็นปัญหาใหญ่ของสถานการณ์โควิด 19 ในขณะนี้ ส่งผลให้รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข และกทม. ต่างหามาตรการในการแก้ปัญหาดังกล่าว อย่าง มาตรการ Home isolation รักษาแบบ กักตัวที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยโควิด กลุ่มสีเขียว ที่อาการไม่รุนแรง หรือไม่แสดงอาการ โดยทางรัฐสนับสนุนในการดูแลต่างๆ
ล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โรงพยาบาลปิยะเวท และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ในการจัดตั้ง Community Isolation หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชนแก่ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการไม่รุนแรงกว่า 1,200 คน ที่ยังอยู่ในระหว่างการรอเตียง และกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ในชุมชน 23 แห่งจับมือโรงพยาบาลปิยะเวทและเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางการจัดการ โดยเริ่มจากให้แกนนำ 23 ชุมชนแจ้งข้อมูลผู้ติดเชื้อกับทีมคอมโควิด IHRI (Community COVID Team) เมื่อมีการยืนยันว่ามีการติดเชื้อแล้ว ก็จะมีการบันทึกข้อมูลแล้วส่งลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลปิยะเวทแล้วนัดวันเอกซเรย์ปอด
ขณะที่โรงพยาบาลปิยะเวทเมื่อรับผู้ป่วยแล้วก็จัดรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ไปตรวจผู้ป่วยในชุมชนเพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบให้เร็วที่สุดและตรวจซ้ำทุก 3 วัน ขณะเดียวกันยังมีการประสานศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ที่มีความพร้อมจัดหารถเอกซเรย์เพื่อเป็นทางเลือกในกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากจนทีมของโรงพยาบาลปิยะเวทให้บริการไม่ทัน
หลังจากนั้น ทีมแกนนำชุมชนและทีมคอมโควิด IHRI จะมีการติดตามประเมินอาการ วัดไข้ วัดระดับออกซิเจนวันละ 1 ครั้งแล้วส่งข้อมูลทุกๆวัน รวมทั้งให้การดูแลเบื้องต้น เช่น ยา ฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ จัดอาหาร 3 มื้อและให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวต่างๆระหว่างอยู่ใน Community Isolation ส่วนโรงพยาบาลจะประเมินรายวันและทำ telehealth ทุกๆ 3 วัน รวมถึงประสานงานต่างๆหากมีการเปลี่ยนแผนการดูแล
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การจัดตั้ง Community Isolation จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นแกนนำชุมชนจะเริ่มสำรวจผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อหรือผู้ติดเชื้อในชุมชน และแจ้งให้รถตรวจหาเชื้อเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลปิยะเวทมาดำเนินการตรวจให้ในชุมชน
- ตั้งทีม Community Isolation 23 ชุมชนดูแลผู้ป่วยโควิดระบบชุมชน
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาลมีความพร้อมทำงานร่วมกับชุมชนและขอชื่นชมการออกแบบระบบการดูแล ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลปิยะเวทดูแลผู้ป่วยอยู่ประมาณ 2,000 กว่าราย และกำลังเตรียมขยายวอร์ดผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) 200 เตียง ในเวลาไม่เกิน 10 วัน และวอร์ดผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) ซึ่งจะเพิ่มทีละโมดูล โมดูลละ 12 เตียง สูงสุด 120 เตียง
อย่างไรก็ดี ในการค้นหาผู้ป่วยจากในชุมชน บางรายอาจมีการไปตรวจด้วยตนเองมาแล้ว แต่โรงพยาบาลต้องขอตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าบางรายตรวจหาเชื้อจากแอนติเจนซึ่งได้ผลเป็น false positive หรือบางรายก็ตรวจจากคลินิกหรือห้องแล็บเอกชนที่ไม่ได้รับรองโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้ผลตรวจไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าตรวจจากโรงพยาบาลรัฐ ด้วยวิธี RT-PCR ก็จะรับเข้าเป็นผู้ป่วยในเลยโดยไม่ต้องตรวจซ้ำ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากกระบวนการทั้งหมด สปสช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยสนับสนุนค่าอาหารวันละ 1,000 บาทและค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนตามจริงไม่เกิน 1,100 บาท/ราย รวมทั้งค่าบริหารจัดการอื่นๆและค่ารถ ค่าเอกซเรย์ ค่า SWOP และค่าตรวจ RT-PCR ตามหลักเกณฑ์
นอกจากนั้น ขณะนี้มีจำนวนคนไข้ปริมาณมาก จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายกับที่เข้ามาใหม่ไม่สมดุลกันทำให้เตียงว่างมีไม่พอ การเพิ่มโรงพยาบาลสนามไม่ทันกับการเพิ่มจำนวนของคนไข้ในช่วงนี้ ทำให้มีผู้ป่วยรอเตียงอยู่จำนวนหนึ่ง
มีหลายจังหวัด รวมทั้งโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ประกาศรับ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาให้กลับมารักษาตามภูมิลำเนาของตนหรือต่างพื้นที่ได้ โดยโรงพยาบาลจะรับผู้ป่วยเหล่านี้รักษาต่อแบบผู้ป่วยใน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'Home isolation' มาตรการเสริม รับวิกฤติเตียง 'โควิด-19' เต็ม
วิกฤติ 'โควิด-19' ป่วยหนักล้น รพ.ปิดรับ 'ไอซียูเต็มขยายไม่ได้'
'สปสช.' หนุนรักษา 'ผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน' อาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน
- แจ้งเบิกค่ารถรับส่งต่อผู้ป่วยโควิด พร้อมค่าชุด PPE
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า วานนี้ (2 กรกฎาคม 2564) สปสช. ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนถึงโรงพยาบาลทุกแห่งว่า โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดำเนินการจัดให้มีรถพยาบาลหรือพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยมารักษาต่อ สามารถขอรับค่าใช้จ่ายมายัง สปสช.ได้ดังนี้
1.ค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย อัตราจ่ายเป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน โดยกรณีใช้รถยนต์ จ่ายชดเชยตามระยะทางกรมทางหลวงไป - กลับ โดยจ่ายชดเชยที่คำนวณได้แต่ไม่เกินที่เรียกเก็บ ดังนี้
1.1 ระยะทางไปกลับ ไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท
1.2 ระยะทางไปกลับ มากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท
2.ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ จ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการรับส่งต่อผู้ป่วย
“โรงพยาบาลที่พร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตามภูมิลำเนา ท่านสามารถจัดรถมารับผู้ป่วยได้ทันที และเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงค่าชุด PPE และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อมาที่ สปสช.ได้ ในส่วนของผู้ป่วยนั้น ท่านสามารถติดต่อโรงพยาบาลตามภูมิลำเนาของท่านได้เลยเพื่อประสานการรับส่งต่อกลับมารักษาที่โรงพยาบาลแห่งนั้น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ย้ำว่าไม่ควรเดินทางโดยพลการหรือเดินทางมาเอง เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลไม่สามารถนำรถมารับผู้ป่วย สามารถใช้รถอาสาสมัคร รถมูลนิธิ ที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย โดย รพ.เป็นผู้เบิกค่ารับส่งต่อกับ สปสช. ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา สามารถประสานได้ที่หมายเลขสายด่วน สปสช.1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง