วิกฤต 'เตียงตึง' แนะใช้สติ สื่อสาร สามัคคีสู้โควิด 19
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดโควิด 19 เข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อ 5,000-6,000 คน ปัญหาการรองรับจำนวนผู้ป่วยจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาวกฤติ ‘เตียงตึง’
กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในส่วนของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ได้มีการดำเนินการมาตรการ 'Home Isolation' หรือ 'กักตัวที่บ้าน' เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล แก้ปัญหาเตียงเต็ม ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง ได้มีเพิ่มขยายเตียงในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าจะเพียงพอหรือไม่
- กทม.และปริมณฑล เข้าสู่ภาวะเตียงตีง เตียงไอซียูวิกฤต
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมแพทย์ กล่าวว่าภาพรวมของสถานการณ์จำนวนเตียงทั้งประเทศนั้น ยังพอรับได้ ในภาครัฐยังมี 70,000 กว่าเตียงทั่วประเทศ แต่ในกทม.และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดทางภาคใต้ สถานการณ์ค่อนข้างหนัก เดิมเราพยายามขยายเตียงจำนวนมาก ซึ่งถ้าไม่จำเป็นไม่อยากใช้มาตรการHome Isolationจึงใช้เฉพาะบางพื้นที่ อย่าง กทม. และปริมณฑลบางจังหวัด
อย่างไรก็ตาม เดิมมีการขยายเตียงทั้ง เตียงในห้องไอซียู และเตียงในโรงพยาบาล ใน โรงพยาบาลสนาม แต่ในส่วนของเตียงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงอาจจะขยายได้น้อย เพราะต้องมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ส่วนกลุ่มสีเหลือง และสีเขียวได้ค่อนข้างมาก
ปัจจุบันโรงพยายามในกลุ่มของโรงเรียนแพทย์ ได้มีการขยายเตียงไอซียู รวมประมาณ 50 กว่าเตียง โดยมีรพ.รามาธิบดี พญาไท 16-18เตียง รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ 6 เตียง ธรรมศาสตร์ 16 เตียง วชิระ 12เตียง และมีแผนจะเพิ่มในเดือนส.ค. 10 เตียง และก.ย.อีก 20 เตียง อีกทั้งมีการเปิดรพ.สนามของ ศปก.ศบค. เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น มทบ.11 ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. มีการเพิ่มเตียงจำนวนผู้ป่วยกลุ่มสีแดง 58 เตียง และผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือ 128 เตียง เป็นต้น
“เดือนก.ค.นี้ สถานการณ์หนักกว่าเดิมอย่างแน่นอน เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีความพยายามดึงคนไข้ในรพ. แต่จากการทำงานของสายด่วนต่างๆ พบว่า มีคนที่ค้างรอเตียงที่บ้าน 1,000 กว่า คน ทำให้มีมาตรการHome Isolation และCommunity Isolation สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 กักตัวที่บ้าน และในชุมชน ระหว่างรอ แอดมินโรง ซึ่งตอนนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้ามาช่วย”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
- ย้ำ '5 มาตรการ' สู้ลดการแพร่ระบาดโควิด 19
ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างตึง ได้รับรายงาน จากรพ.ราชวิถี พบว่ามีคนไข้ที่มารับการรักษาในห้องฉุกเฉินจากอุบัติเหตุ แต่เมื่อ ตรวจโควิด 19 กลับพบว่าติดเชื้อจำนวนมาก ทางภาครัฐได้มีการพยายามปรับตัวหลายส่วน เช่น มีการเพิ่มห้องฉุกเฉิน หรือมี หญิงตั้งครรภ์ ที่ติดโควิด 19 มาก รพ.อื่นๆ ไม่รับ เมื่อเด็กคลอดก็มีปัญหาเตียงไม่พอ ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันจะเป็นเรื่องที่ดีมาก
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องเตียง เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ดูว่าสถานการณ์โควิด 19 แย่ลง แต่ปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมและกำจัดโควิด 19 ได้นั้น ต้องอาศัย 5 มาตรการ สำคัญ คือ นโยบายที่ชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ ระบบควบคุมโรคต้องดี รักษาพยาบาลต้องเข้มแข็ง และการฉีดวัคซีนครอบคลุม ถ้า 5เรื่องนี้ไปด้วยกันดี เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย การขยายเตียง การหาอุปกรณ์ไม่ใช่เรื่องยากแต่บุคลากรหน้างานเขาตึงจริงๆ แต่ถ้า 5 มาตรการ นี้ช่วยกันได้สถานการณ์จะแก้ไขไปด้วยกันได้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ 5 มาตรการ ต้องยอมรับความเป็นจริงในบางช่วงบางจังหวะอาจหย่อนลงไปในบางเรื่อง ซึ่งเรารบกับเรื่องนี้มาปีครึ่ง มีบางจังหวะที่พี่น้องประชาชนเหนื่อยล้า บางจังหวะนโยบายของรัฐบาลก็มีปัญหา ตอนนี้ตนมองว่ายังมีเวลา ถ้าทุกคนร่วมมือกันใน 5 มาตรการนี้ กควบคุมโรคตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน จังหวัดหรือกระทรวงสาธารณสุข และภาคส่วนอื่นๆ ต้องเข้มแข็ง
“ทุกมาตรการอาจต้องกลับไปทบทวนตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลมีความเข้มข้นหรือไม่ ประชาชนดูแลตัวเองดีแล้วหรือยัง ตอนนี้เริ่มเข้าไปในชุมชน และครอบครัว อาจจะถึงเวลาที่ใส่หน้ากากอนามัยในบ้าน การป้องกันมาตรการควบคุมโรค ทำได้ดีหรือยังในทุกภาคส่วน การรักษาพยาบาลปัจจุบันค่อนข้างหนักใจเพราะหมอพยาบาลก็เริ่มล้า วัคซีนก็ทบทวนนโยบายให้ชัดเจน เราทราบว่าไม่สามารถดูแลได้ครบทั้งประเทศ แต่ต้องเอากันหนักกับกันตาย หรือผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง"นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ถ้าทุกภาคส่วนทุ่มกัน ทุกคนเห็นต่างได้ แต่ต้องเอาความจริงมาพูด เอาความโปร่งใสเป็นหลัก ถ้าพูดคุยกันแล้วเมื่อมีข้อสรุปขอให้เดินหน้าไปด้วยกันและไม่โทษกัน โควิด 19 ทำลายล้างทุกทฤษฎี ถ้าทุกคนโทษกันไปมา ประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ รัฐบาลต้องฟังประชาชน ประชาชนต้องร่วมมือกับรัฐบาล
- ยันระบบสาธารณสุขไทยไม่ล่มสลาย แนะ 3 ส ผ่านพ้นวิกฤตโควิด
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าความเป็นจริงไม่อยากให้มีการดูแลที่บ้าน เชื่อโดยส่วนตัวว่าปีที่แล้ว สามารถควบคุมได้ดี เพราะนำคนไข้ออกจากบ้าน ออกจากชุมชน ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากทำ เพราะอาจจะมีการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ถามว่าตอนนี้พร้อมหรือไม่ พอเดือนเม.ย.คนไข้เพิ่มขึ้นมาจำนวนมาก และได้มีการเตรียม Home Isolation ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้าย หรือเตียงตีงจิงๆ
“ส่วนที่มีคนตั้งคำถามว่าตอนนี้ ระบบสาธารณสุข ล้มแล้วหรือยัง เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการนิยาม ว่าการล่มสลายของสาธารณสุขคืออะไร ถ้าเตียงไม่พอถือเป็นล่มสลายหรือไม่ ถ้าโดยส่วนตัวไม่ถือว่าล่มสลาย เพราะรพ.ยังให้การดูแลผู้ป่วยอยู่ คำว่าล่มสลายของสาธารณสุขคืออะไร ถ้าเตียงไม่พอ คงไม่ใช่ เนื่องจากมีการปรับ แต่อาจจะเป็นคำถามประชาชนทั่วประเทศ ตัวเราเองจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งคงสาธารณสุขไทยหรือไม่ ถ้า 5 มาตรการไปด้วยกันดี ผมมั่นใจว่าจะไม่มีวันที่ระบบสาธารณสุข จะล่มสลาย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประเมินเพื่อการขยายเตียงในโรงพยาบาลนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกตัวเลขได้ชัดเจนว่าต้องขยายเตียงไปเท่าใด เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น การคาดคะเนโดยส่วนตัว ตอนนี้มีผู้ป่วยอยู่ระดับ 5,000-6,000 คน ทุกวัน ภาพประเทศเราพอได้ ถ้าตัวเลขไม่ขึ้นมากกว่านี้
ส่วน เตียงในกทม.และปริมณฑล รวมถึงภาคใต้บางจังหวัด ต้องเร่งขยายเตียงรองรับ การขยายเตียงตอนนี้เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากเดิม อย่าง กทม. ตัวเลขอยู่ประมาณ 2,000 กว่าคน เพิ่มจากเดิมมาประมาณ 1,000 กว่าคน ก็มีการ ขยายเตียงเพิ่มขึ้นให้เพียงพอ แต่ถ้าตัวเลขเพิ่มไปเรื่อยๆ อีกไม่กี่อาทิตย์ก็จะมีปัญหาเรื่อง เตียงไอซียู เต็มอีกครั้ง แต่ถ้าจำนวนลดลง เตียงก็จะมีเพียงพอในการรองรับ
“ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกัน ปฎิบัติ 5 มาตรการ ทั้งนโยบายรัฐบาล พี่น้องประชาชน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และวัคซีน ถ้า 5 มาตรการนี้ดี ต้องเป็นไปตาม 2 เรื่องเอาความจริงมาพูดและโปร่งใส ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ เห็นต่างไม่เป็นไรแต่ต้องมาพูดคุยกัน ที่สำคัญขอให้ทุกคนมี 3 ส.คือ 1 ตั้งสติ เดือนก.ค.นี้ หนักแน่ 2. สื่อสารด้วยความจริงและโปร่งใส และ 3. สามัคคี เมื่อได้ข้อสรุปขอให้เดินหน้าไปด้วยกัน ถ้าสติ สื่อสาร สามัคคีมาพร้อมกันประเทศไทยจะไปรอด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว