สธ.ปรับวิธีตรวจโควิด-19กลุ่มหนุ่มสาว

สธ.ปรับวิธีตรวจโควิด-19กลุ่มหนุ่มสาว

สธ.รุกจัดการโควิดกทม.เอง ปรับ 4 มาตรการใหม่ทำทันที หวังก.ค.ยอดติดเชื้อลดลง ลุยฉีดวัคซีนที่มี80 %ให้ผู้สูงอายุ-7กลุ่มโรคเสร็จในส.ค.นี้ เตรียมบูสเตอร์โดสให้บุคลากรด่านหน้า กระจายวัคซีนกว่า2ล้านโดสทุกสัปดาห์ ปรับวิธีตรวจหาเชื้อหนุ่มสาวใช้ชุดตรวจตัวเอง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 5 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19  นพ.เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19มากขึ้น เพราะมีสายพันธุ์กลายพันธุ์ มีการติดเชื้อง่ายและแพร่วงกว้าง ส่วนใหญ่อยู่กทม.และปริมณฑล สำหรับต่างจังหวัดสามารถควบคุมการระบาด มีการตรวจและรับผู้ป่วยไว้ในการรักษต่างจังหวัดดูแลได้เป็นอย่างดี  แต่ที่น่าเป็นห่วงคือในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งสธ.ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลในพื้นที่กทม.โดยตรง แต่กทม.เป็นเมืองใหญ่และมีการติดเชื้อระบาดครั้งนี้เพิ่มขึ้นมาก สธ.ต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลในกทม. ตั้งแต่การควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง และการให้วัคซีน เพื่อควบคุมโรคให้เร็วที่สุดและดูแลประชาชนให้ได้มากที่สุดและฉีดวัคซีนเพื่อการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด  
เตรียมฉีดวัคซีนบูสเตอร์บุคลากร

การติดเชื้อค่อนข้างมากในกรุงเทพฯและปริมณฑล  ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เสนอมาตรการที่จะปรับวิธีการควบคุมโรคเพื่อให้เหมาะสม ลดปริมาณผู้ติดเชื้อและได้รับการดูแลดีขึ้น โดยวางมาตรการใหม่ 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่   2.ปรับระบบการรักษาพยาบาล การเชื่อมต่อระบบรักษาดูแลผู้ป่วย 3.มาตรการวัคซีน สธ.ปรับนโยบายเรื่องวัคซีน ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า จะจัดวัคซีนที่เรียกว่าบูสเตอร์โดส(Booster Dose)ให้กับบุคลากรด่านหน้าในรพ.ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยทุกวันโดยตรง เพื่อเพิ่มคุ้มกันให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อรักษาระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศให้สามารถเดินหน้าให้บริการประชาชน โดยการใช้วัคซีนให้เป็นไปตามข้อมูลทางวิชาการและจะให้ทันเวลาตามหลักวิชาการ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความพร้อมได้เต็มที่ ซึ่งจะมีการทำแนวทางการให้วัคซีนบูสเตอร์ต่อไป
 ก.ค.ฉีดวัคซีน 80 %ให้ 2 กลุ่ม
     นอกจากนี้  การฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและ7กลุ่มโรค โดยในเดือนก.ค.วัคซีนที่มีอยู่จะจัดสรรให้กับ 2 กลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า  80 %  ของวัคซีนที่ได้มา เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต เพราะอัตราเสียชีวิตอยู่คือคนกลุ่มเหล่านี้ทั้งสิ้น  รวมทั้ง เปลี่ยนวิธีการให้วัคซีน จากมีการปูพรมก็จะลดลง จะฉีดในกลุ่มเฉพาะ มุ่งเน้นการฉัดวัคซีนเพื่อการควบุคมโรคในพี้นที่ระบาดของโรค จะวางมาตรการลงไป เช่น เฝ้าระวังถ้ามีการติดเชื้อก็จะฉีดวัคซีนบริเวณนั้น จะทำให้เร่งการควบคุมโรคได้ดีขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ส่วนในเดือนต่อๆไปก็จะฉีดให้ประชาชนทั่วไปมากขึ้น เพื่อให้เกิดการครอบคลุมมากที่สุด และ4.มาตรการสังคม ซึ่งจะเป็นมาตรการควบคุมโรคที่จะใช้ในกรุงเทพฯทันที เพื่อพยายามควบคุมโรคภายในเดือนกรกฎาคมเพื่อให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง

หนุ่มสาวใช้ชุดตรวจเชื้อด้วยตนเอง  

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการควบคุมโรคจะมี 2 ส่วน คือ ต่างจังหวัด ยังใช้มาตรการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังติดเชื้อไม่มากจะเฝ้าระวังในผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายหวัดและปอดอักเสบที่โรงพยาบาล จากนั้นจะใช้มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล  ค้นหาผู้ป่วยเพื่อไปสู่การกักกัน หาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำและใช้มาตรการค้นหาเชิงรุกที่มีความเข้มข้นและเข้มงวดขึ้น และกทม.และปริมณฑล ที่เป็นศูนย์กลางระบาดของโควิดนั้น มาตรการเดือนก.ค.-ส.ค. จะมีการปรับมาตรการให้สอดคล้องมากยิ่งขึ้น

  ในมาตรการค้นหา รักษา แยกกัก ควบคุม จะเน้นไปที่การปกป้องผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยรุนแรง จัดทางด่วนสำหรับผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางเสี่ยงป่วยรุนแรง และผู้ที่มีอาการสงสัยให้ได้รับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน และเชื่อมกับการรับเข้าสู่ระบบการรักษาและแยกกักโรคในรพ.ทันที จะทำให้ลดการป่วยรุนแรงและการตายได้ ส่วนบุคคลกลุ่มอื่นๆ วัยหนุ่มสาว ปรับกลยุทธ์การตรวจการติดเชื้อให้ใช้สถานที่อื่นๆและวิธีตรวจอื่นๆ เช่น หน่วยนอกรพ. หน่วยเชิงรุก รถพระราชทาน คลินิกชุมชน แล็ปโดยใช้antigen test ทั้งที่คลินิก แล็ป หรือตรวจด้วยตนเอง หากพบผลบวกต่อยส่งมาตรวจยืนยันในช่องทางด่วนแล้วนำเข้าสู่ระบบการรักษา  รวมถึง ปรับการสอบสวนและควบคุมโรคที่เน้นสอบให้ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญ กลุ่มก้อนและจุดเสี่ยงการระบาดใหญ่ให้ทันเวลา ส่วนการสอบสวนเฉพาะรายให้จุดตรวจเป็นผู้ดำเนินการ และออกควบคุมเชิงรุกเฉพาะจุดเสี่ยงการระบาดรุนแรงวงกว้าง โดยการประเมินความเสี่ยงและพิจารณาทำบับเบิลแอนด์ซีล(Bubble and Seal) เป็นมาตรการที่จะเสนอและดำเนินการร่วมกับกทม.


 กระจายวัคซีนสัปดาห์ละ2-2.5ล้านโดส
      มาตรการวัคซีน ในเดือนมิ.ย.มีการฉีดวัคซีนได้ 6 ล้านโดสตามเป้าหมาย ส่วนเดือนก.ค. ตั้งเป้าหมายอย่างน้อย 10 ล้านโดส จะมีการกระจายวัคซีนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2-2.5 ล้านโดส เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต  ควบคุมการระบาดโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลและเป้าหมายอื่นๆ เช่น การเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ ภูเก็ตที่มีการดำเนินการแล้ว ต่อไป คือ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า
2สัปดาห์ฉีด2กลุ่มกทม.อย่างน้อย70%
         สำหรับการระดมฉีดวัคซีน กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยเปราะบาง พื้นที่กรุงเทพฯมีประมาณ 1.8 ล้านคน จะระดมฉีดให้ได้อย่างน้อย 70 % ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่วนปริมณฑลจะฉีดให้เสร็จสิ้นภายในก.ค. และจังหวัดอื่นๆใน 2 กลุ่มนี้ภายในส.ค.2564 ส่วนการฉีดเพื่อควบคุมการระบาด ดดยเฉพาะในจุดเสี่ยงการระบาดวงกว้าง เช่น โรงงาน ตลาดจะมีการฉีดวัคซีนรอบชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงติดเชื้อและผู้ที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปผู้อื่น มีเป้าหมายการฉีดอย่างชัดเจนและจะมีการติดตามกำกับร่วมกับกรุงเทพฯคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯต่อไป

 work from home 70 %

และมาตรการทางสังคมและองค์กร จะมีการยกระดับ โดยเฉพาะประชาชนเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีการระบาดมาก บังคับมาตรการ work from home ในสถานที่ หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยบริการป้องกันควบคุมโรค และสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ให้ได้ 70%  และส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มความเข้มงวด มาตรการบุคคล ประยุกต์หลักการบับเบิลแอนด์ซีล ตัวเองและครอบครัวสำหรับการเดินทางไปทำงานและลดการเดินทางออกนอกบ้าน และขอให้ใส่หน้ากากอนามัยให้ได้มากที่สุดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การครองเตียงของผุ้ป่วยเดือน ก.ค. ข้อมูลวันที่ 4 ก.ค. มีการครองเตียง 28,000 เตียง เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. กว่า 10,000 เตียง ซึ่งทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพิ่มเตียงทุกกลุ่มอาการทั้งสีเขียว เหลือง แดง โดยพบว่าผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสี โดยกลุ่มสีแดงเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 1 เดือน จาก 657 คนในเดือน มิ.ย. เป็น 1,130 คน ในเดือน ก.ค.ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 200 เป็น 400 คน ระดับการเสียชีวิต วันละ 30-40 คน จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการกักตัวที่บ้าน หรือชุมชน โดยมีผู้ป่วยเข้าโครงการกักตัวที่บ้านกับโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 100 กว่าคน  โดยส่งปรอทวัดไข้ เครื่องวัดอ๊อกซิเจน ในเลือด ไปให้ มีการส่งอาหาร 3 มื้อ เป็นการกักตัวคนไข้ไปในตัว เพื่อไม่ให้ออกนอกบริเวณบ้าน และติดตามอาการวันละ 1-2 ครั้งแล้วแต่อาการ หากอาการแย่ลงจะส่งยาไปให้หรือประสานส่งตัวไปยังโรงพยาบาล