เปิดข้อเสนอ ส.อ.ท.-สภาวิศวกร แนะย้ายโรงงานออกนอกชุมชน
ส.อ.ท.-สภาวิศวกร เสนอรัฐย้ายโรงงานออกนอกชุมชน แนะให้ กนอ.ตั้งนิคมฯ สำหรับเอสเอ็มอี จัดมาตรการภาษีจูงใจย้ายโรงงาน จี้ประกาศบางพลีเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
ความคืบหน้ากรณีไฟไหม้ถังเก็บสารเคมีของโรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่เริ่มเกิดเหตุมาตั้งแต่เวลา 03.00 น.ของวันที่ 5 ก.ค.2564 และสามารถควบคุมเพลิงได้ แต่กลับมีการประทุขึ้นมาอีกเมื่อเวลา 17.00 น.วานนี้ (6 ก.ค.) ทำให้จังหวัดสมุทรปราการออกคำสั่งอพยพประชาชนในรัศมี 2 กิโลเมตร
การควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้โรงงานครั้งนี้จะใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดับเพลิงภาคอุตสาหกรรม โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐรวมถึงภาคเอกชน เช่น กลุ่ม ปตท.ส่งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และโฟมดับเพลิงมาจากฐานการผลิตในภาคตะวันออก ในขณะที่บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และโฟมดับเพลิงมาจากโรงกลั่นบางจาก
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโรงงานส่วนใหญ่พยายามที่จะตั้งห่างไกลจากชุมชนอยู่แล้ว แต่เมื่อความเจริญขยายเข้ามาก็กลายเป็นว่าโรงงานอยู่ติดชุมชน ดังนั้นรัฐควรจะจัดระเบียบโรงงานที่มีปัญหาความเสี่ยงต่อมลพิษและอันตรายต่อชุมชนด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ย้ายออกจากพื้นที่ชุมชนไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม
สำหรับการออกมาตรการที่เป็นการสร้างแรงจูงใจ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมภาษีที่ดิน 2% การยกเว้นภาษีที่เกิดจากการขายที่ดินโรงงานเฉพาะกรณีย้ายโรงงานเข้านิคมอุตสาหกรรม การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น เพื่อให้โรงงานเอสเอ็มอีมีเงินทุนเหลือเพียงพอในการเข้าไปซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและสร้างโรงงาน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐไปจัดทำนิคมอุตสาหกรรมสำหรับเอสเอ็มอี โดยนำที่ดินของรัฐ เช่น ที่ดินราชพัสดุ มาบริหารจัดการทำนิคมฯเอสเอ็มอีขายพื้นที่ในราคาต่ำให้กับเอสเอ็มอีเข้าไปตั้งโรงงาน เพราะหากให้เอกชนไปซื้อที่ดินทำนิคมฯ เองจะมีต้นทุนสูงกว่าภาครัฐ หรือรัฐอาจเข้าไปให้เงินสนับสนุน หรือมาตรการทางภาษีอื่น ๆ ให้กับนิคมฯเอกชนจัดทำพื้นที่สำหรับเอสเอ็มอี เพื่อให้มีราคาลดลงจนเอสเอ็มอีสามารถเข้าไปอยู่ได้
“ธุรกิจเอสเอ็มอีมีเงินลงทุนน้อย จึงย้ายเข้าไปตั้งโรงงานในนิคมฯได้ยาก ดังนั้นรัฐควรให้การสนับสนุนทั้งตังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในด้านภาษีเพื่อสนุนสนุนให้เข้าไปตั้งโรงงานในนิคมฯ และสนับสนุนให้เกิดนิคมฯเอสเอ็มอีที่มีราคาต่ำ ซึ่งจะทำให้โรงงานขนาดกลางและเล็กที่อยู่ในชุมชนเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้จัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ง่าย มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีกว่า และป้องกันอุบัติภัยไม่ให้ขยายวงร้ายแรงกระทบต่อชุมชนเหมือนกับกรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้”
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในขณะนี้ควรประกาศพื้นที่ดังกล่าวให้เป็น “พื้นที่ภัยพิบัติ” แม้จะดับเพลิงเสร็จสิ้น เพราะยังไม่รู้ว่ามีอะไรที่โรงงานครอบครองอยู่ ขณะเดียวกัน ควรติดตั้งสถานีตรวจวัดสารพิษในอากาศและรายงานประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
รวมถึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบต. สำนักงานเขต กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้อง “ทำบัญชีฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่” โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความทับซ้อนไม่ว่าโรงงานหรือบ้านเรือนจะมาก่อนมาหลัง ให้ถือว่าทุกโรงงานมีความเสี่ยง เพื่อลดความสูญเสียของอาสาสมัคร นักดับเพลิง ในการลงพื้นที่ระงับเหตุแต่ไม่มีผังโรงงาน และแบบแปลนบ้านเมืองในมือพร้อมกับ “การอบรบให้ความรู้ แก่อาสาสมัครและนักดับเพลิง”เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
นอกจากนี้ควรมีนโยบายของการจัดการโรงงานอย่างเป็นธรรมในการเจรจาต่อรองกับเจ้าของโรงงานให้ย้ายออก เพราะมีประชาชนอาศัยหนาแน่น เป็นพื้นที่สีแดง เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ จีน หากเจ้าของโรงงาแต่เดิมซื้อที่ดินมาในอีกราคาหนึ่ง และในปัจจุบันมีการขายที่ดินมูลค่าสูงขึ้น มีกำไรมหาศาล อาจจะห่วงภาษีโอนที่ดิน หากหน่วยงานของรัฐช่วยตรงนี้ได้ จะทำให้โรงงานไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าสูง
“ขณะเดียวกัน กระบวนการย้ายโรงงานต้องการเวลาและเงินลงทุน รัฐสามารถเจรจาในการลดภาษีรายได้ จะกี่ปีก็ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วน เป็นข้อปฏิบัติในต่างประเทศ จะถือเป็นการดึงดูดให้เจ้าของโรงงาน ย้ายโรงงานโดยได้รับผลประโยชน์ และผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสังคม พร้อมกับแนะนำให้วิศวกร ในโรงงานขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกรเพื่ออัพเดทความรู้อยู่เสมอ” นายกสภาวิศวกร กล่าว