เช็คข้อเสนอ 'ล็อกดาวน์' กทม.-ปริมณฑล 14 วัน Work From Home 100%
ศบค. เปิดเผย ข้อเสนอมาตรการ "ล็อกดาวน์" กทม.-ปริมณฑล คุมเข้มลดระบาด 14 วัน เช็ครายละเอียดที่นี่
วันนี้ (8 ก.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 ระหว่าง สธ.กับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศบค.และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่ กทม. เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,058 ราย มีผู้ติดเชื้อระลอกเม.ย.2564 สะสม 280,000 ราย เสียชีวิต 75 คน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกทม.และปริมณฑล ขณะเดียวกันมีการรับผู้ป่วยเข้ารักษาจำนวนมากไอซียูที่เพิ่มขึ้นก็มีการใช้มาก
โดย สธ. ได้เสนอให้ออกมาตรการยกระดับมาตรการทางสังคม ข้อเสนอ "ล็อกดาวน์" กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 14 วัน มีมาตรการ อาทิ จำกัดการเดินทาง อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ออกจากเคหะสถาน เว้นไปหาอาหาร พบแพทย์ และฉีดวัคซีน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ยกเว้น ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยใช้ในพื้นที่เสี่ยงและกันชน เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้คาดว่าจะเลือกเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้มซึ่งมี 10 จังหวัด อย่างไรก็ตามการพิจารณาขั้นสุดท้าย อาจเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลัก 6 จังหวัด คือ กรุงเทพและ 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรปราการ
สำหรับข้อเสนอ ที่ทาง สธ. จะเสนอให้ ศบค. พิจารณาในวันที่ 9 ก.ค. สำหรับพื้นที่เสี่ยง (กทม. ปริมณฑล) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ดังนี้
- จำกัดการเดินทางออกจากบ้าน และไปในสถานที่เสี่ยง โดยลดการเคลื่อนที่ของประชาชน ดังนี้
- Work From Home 100% ยกเว้นงานบริการที่จำเป็น และงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค
- ขอให้ประชาชน งดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ยกเว้น ซื้ออาหาร ไปโรงพยาบาล และ ฉีดวัคซีน
- ปิด หรือลดเวลาเปิดสถานที่ชุมชน/สถานที่เสี่ยง เพิ่มเติม อาทิเช่น ลดเวลาเปิดปิด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ยกเว้น ส่วนของร้านอุปกรณ์อุปโภคบริโภคส่วน เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต
- ลดการรวมกลุ่มกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เช่น งดจัดประชุม จัดสอบ หรือกลับเข้าสถานศึกษา
- งดการเดินทางข้ามจังหวัด
ปรับแผนการกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัด และ ระดมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้กลุ่มผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง ในกทม.
และ ปริมณฑล
- จัดช่องทางด่วนในการตรวจ และรักษาให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และโรคเรื้อรัง
- ให้ประชาชนทุกคน เน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล การสวมหน้ากากอนามัย งดการคลุกคลีใกล้ชิดกัน หรือ รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในที่บ้าน สถานที่ทำงาน
- เน้นย้ำทุกหน่วยงาน และผู้ประกอบการ เรื่องมาตรการป้องกันส่วนบุคคลในสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ล่าสุด วันที่ 8 ก.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงตัวเลข ผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 7,058 ราย ทำให้มี ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม ทั้งสิ้น 308,230 ราย ส่วน ผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้นอีก 75 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 2,368 ราย หายป่วย กลับบ้านได้ 4,978 ราย
หากนับเฉพาะผู้ป่วยสะสมระลอกเดือน เม.ย.2564 พบว่า มีทั้งสิ้น 279,367 คน สำหรับผู้ป่วยรักษาอยู่ 69,619 ราย อาการหนัก 2,564 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 698 ราย
ในส่วนของผู้ป่วยอาการหนัก 2,564 ราย และมีการใส่เครื่องช่วยหายใน 698 ราย คิดเป็น 27.22% หรือ 1 ใน 3 นั้น แบ่งเป็น กทม. 313 ราย สมุทรปราการ 56 ราย นนทบุรี 45 ราย นครปฐม 36 ราย สมุทรสาคร 30 ราย ปทุมธานี 27 ราย ชลบุรี 23 ราย นครราชสีมา 14 ราย ราชบุรี 12 ราย ปัตตานี 12 ราย เพชรบุรี 11 ราย และพระนครศรีอยุธนา 8 ราย รวมถึงมีการกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จะเห็นว่าการเดินทางข้ามจังหวัด กลับภูมิลำเนา ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เตียงสีแดงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ขอให้ติดตามกันอย่างใกล้ชิด