แค่ 'สายการบิน' ไม่พอ! ‘แอร์เอเชีย-เวียตเจ็ท’ รุกอีคอมเมิร์ซเพิ่มรายได้
หลังจากบิ๊กบอสสายการบินโลว์คอสต์ชื่อดังแห่งอาเซียน “โทนี่ เฟอร์นันเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย ประกาศดีลสั่นสะเทือนวงการแพลตฟอร์มมัลติเซอร์วิส ครอบคลุมอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ฟินเทค และอื่นๆ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา
ว่า “แอร์เอเชีย ดิจิทัล” หน่วยธุรกิจด้านดิจิทัลภายใต้กลุ่มแอร์เอเชีย ได้เข้าซื้อกิจการของ “Gojek” (โกเจ็ก) สตาร์ทอัพยูนิคอร์นสัญชาติอินโดนีเซีย ส่วนที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท (50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
“นี่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของกลุ่มแอร์เอเชีย จากธุรกิจสายการบินระดับอาเซียนสู่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ระดับอาเซียน หลังก่อตั้งสายการบินแอร์เอเชียเมื่อ 19 ปีที่ผ่านมา” โทนี่ เฟอร์นันเดส ซีอีโอแห่งกลุ่มแอร์เอเชียกล่าว
ข้อตกลงระหว่างกลุ่มแอร์เอเชียกับโกเจ็กเป็นไปตามแผนการเดินหน้าขยายการเติบโตของ “แอร์เอเชีย ซูเปอร์ แอพ” (airasia super app) ให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันก็ทำให้โกเจ็กสามารถเพิ่มการลงทุนในการดำเนินงานได้ โดยเฉพาะในตลาดเวียดนามและสิงคโปร์ โดยโกเจ็กจะเข้าถือหุ้นบางส่วนในแพลตฟอร์มแอร์เอเชีย ซูเปอร์ แอพ ซึ่งมีมูลค่าประเมินทางตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท
นับเป็นการสร้างรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังสร้างโอกาสใหม่ในการดำเนินธุรกิจและเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอาเซียน...ภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก!
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า แบรนด์ “แอร์เอเชีย” มีความแข็งแกร่งในประเทศไทย รู้สึกตื่นเต้นที่กลุ่มแอร์เอเชียริเริ่มความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวทั้งกับสองบริษัท รวมทั้งกับพนักงาน คนขับรถ และผู้ค้าของโกเจ็กในประเทศไทย โดยไม่เพียงแต่จะสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางเเละขนาดย่อมในท้องถิ่นและซัพพลายเออร์อาหารสดเท่านั้น แต่ยังจะสร้างโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับคนขับรถส่งของในตลาดใหม่ที่เราตั้งเป้าจะเปิดตัวเร็วๆ นี้
“พฤติกรรมของคนไทยคือสามารถปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลได้ดี คุ้นชินกับรูปแบบไลฟ์สไตล์ผ่านโทรศัพท์มือถือและกิจกรรมต่างๆ แบบเรียลไทม์ รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ฟินเทค และความบันเทิงออนไลน์ จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ผมเชื่อว่ากลุ่มแอร์เอเชียจะสามารถต่อยอดธุรกิจจากสิ่งที่โกเจ็กประสบความสำเร็จแล้วในกรุงเทพฯได้อย่างดี พร้อมก้าวสู่โอกาสใหม่เพื่อมอบความสะดวกสบายและการแข่งขันด้านราคาที่มากขึ้นสำหรับคนไทย”
วรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า “ไทยเวียตเจ็ท” อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรุกตลาดอีคอมเมิร์ซ ภายใต้ชื่อ “สกายช็อป” (Sky Shop) วางแผนให้บริการภายในเร็วๆ นี้ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของไทยเวียตเจ็ทเรื่อง “ไม่ได้ขายแค่ตั๋วเครื่องบิน” ด้วยการขยายกรอบให้เป็น “แพลตฟอร์มด้านไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยว” ตามตำแหน่งทางการตลาดที่วางไว้ ให้มีผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาศัยฐานผู้โดยสารของไทยเวียตเจ็ทในการทำตลาด โดยปี 2564 ตั้งเป้ามียอดผู้โดยสารรวม 5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งปิดที่ 3 ล้านคน
นอกจากการขายตั๋วเครื่องบินซึ่งล่าสุดได้เพิ่มทางเลือกเสนอขายแก่ลูกค้า ออกแพ็คเกจแบบ “ดีลักซ์ โปรดักต์” ขายพ่วงตั๋วเครื่องบิน รวมค่าใช้จ่ายในการเลือกที่นั่ง ค่าน้ำหนักสัมภาระ 20 กิโลกรัม และสามารถเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ 1 ครั้ง ให้ความคุ้มค่ากว่าการซื้อแยก 20% แล้ว แพลตฟอร์มสกายช็อปของไทยเวียตเจ็ทยังเตรียมขายสินค้าที่ระลึกบนเที่ยวบิน บัตรกำนัลเข้าพักโรงแรม บัตรกำนัลเข้าสถานที่ท่องเที่ยว ประกันภัยการเดินทาง ประกันวินาศภัย แพ็คเกจตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และสินค้าด้านไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยวกับบริการการเดินทางอื่นๆ ในราคาพิเศษอีกด้วย
“ไทยเวียตเจ็ทหวังว่าแพลตฟอร์มสกายช็อปจะมีส่วนช่วยผลักดันกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ซึ่งมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวรออยู่ให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเปิดพื้นที่ให้คู่ค้าผู้ประกอบการสามารถเข้ามาฝากร้านได้ เพื่อสร้างระบบด้านอีคอมเมิร์ซให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น”
อีกหนึ่งแผนงานที่ไทยเวียตเจ็ทให้ความสำคัญในการพัฒนาควบคู่คือระบบสมาชิกอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “สกายฟัน ลอยัลตี้” (SkyFUN Loyalty) คาดว่าจะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการรวมถึงให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ โดยมีการแบ่งระดับเป็นแพลตินัม โกลด์ และซิลเวอร์ รูปแบบของการสะสมคะแนนจะไม่ได้ให้เป็นแต้มพอยต์หรือไมล์สะสม แต่จะให้เป็นเหรียญ (Coin) แทน มอบสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าสายการบินฯ ให้มากกว่าการแลกตั๋วเครื่องบินทั่วไป