เปิดขั้นตอนใช้ 'Rapid Antigen Test' ตรวจโควิด-19 โดยโรงพยาบาลเอกชน
กรมสบศ. เผยขั้นตอน ใช้ 'Rapid Antigen Test' ตรวจโควิด-19 โดยโรงพยาบาลเอกชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนเข้าถึงการตรวจได้เร็วขึ้น พร้อมตอบชัด หากพบเชื้อแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ?
ขณะนี้ประชาชนต้องการตรวจหาเชื้อและพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า กรมสบส. ได้ประชุมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยอนุญาตให้ใช้การตรวจ Rapid Antigen Test เพื่อให้ตรวจหาเชื้อได้เร็วขึ้น ตามสถานการณ์เปลี่ยนไป
หากตรวจพบผู้ติดเชื้อ มีระบบการดูแล 2 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 หากโรงพยาบาลเอกชน มีเตียง และประเมินผู้ติดเชื้อเบื้องต้น พบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ควรรักษาในโรงพยาบาล เช่น อาการหนัก อายุมาก เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้หาเตียงรองรับ
แนวทางที่ 2 หากผู้ติดเชื้อแข็งแรงดี ไม่มีอาการ สถานพยาบาลเอกชนสามารถดำเนินมาตรการ Home isolation หรือแยกกักตัวที่บ้าน ได้ทันที โดยได้รับความยินยอมและสมัครใจจากผู้ติดเชื้อ
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation) เป็นการชั่วคราว และทำหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายการแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างรวดเร็ว ดูแลค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นภาระ โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป
- มาตรฐาน 'Home isolation' ใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิช่วยดูแล
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของ กรมการแพทย์ ในการ Home isolation หรือแยกกักตัวที่บ้าน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เนื่องจากใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง เช่น กทม. มีคลินิกอบอุ่น ศูนย์อนามัย กทม. ส่วนพื้นที่ภูมิภาค มี รพ.สต. และ อสม. เบื้องต้นพบว่าสถานพยาบาลภาคเอกชนแทบทุกแห่ง มีระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอยู่แล้ว เช่น Telemedicine ที่ได้การรับรองมาตรฐาน, ระบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน Home Health care
“ขอความร่วมมือสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ได้ตรวจหาผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ขอให้ใช้วิธีการแยกกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการตรวจหาเชื้อ เข้ารับการรักษา และทราบวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในครอบครัวและชุมชน” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่าการ ตรวจโควิด 19 สถานการณ์ช่วงแรกสธ.ได้ออกแบบระบบว่าถ้าที่ไหนตรวจผู้ป่วยต้องแอดมิน แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และมีการตรวจเพิ่มขึ้น ทางกรม สบส ได้แจ้งในที่ประชุมสมาคมสถานพยาบาลเอกชนแล้ว ขอให้ตรวจโควิด 19 และตอนนี้มีการออกมาตรฐาน Home isolation
อีกทั้งเรามีศูนย์อนามัยของกทม. มีอสม. มีหน่วยงานพยาบาลต่างๆ จะมีช่วยเสริม Home isolation ดังนั้น หากมีการตรวจโควิด 19 แล้วพบผู้ป่วย ถ้าสถานพยาบาลเอกชน มีเตียง ชอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกคนดูเตียงให้แก่ประชาชน แต่ถ้าไม่สามารถจัดเตียงได้ ขอให้จัด Home isolation และ Community isolation แก่ประชาชน
- สถานพยาบาลเอกชน พร้อมจัด Home isolation แก่ผู้ป่วยโควิด
นอกจากนั้น ได้เปิดให้ สถานพยาบาลเอกชน สามารถจัดตั้ง Home isolation ให้แก่ประชาชนได้ อีกทั้งได้มีการจัดทำเกณฑ์ค่าใช้จ่ายให้แก่สถานพบาบาลเอกชน ซึ่งจะมีการประกาศเร็วๆ นี้ รวมถึงจะนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป
รายงานข้อมูล Hospitels กรม สบส ข้อมูลวันที่ 9 ก.ค.2564 กองสถานพบาบาลและการประกอบโรคศิลปะ พบว่า กรมสบส ได้มีการอนุมัติ Hospitels 98 แห่ง (+3) เตียงที่ได้รับอนุมัติ 25,794 เตียง (เพิ่ม+557) แบ่งเป็น กทม. 21,538 เตียง และปริมณฑล 4,256 เตียง
ทั้งนี้ Hospitels ที่เปิดดำเนินการขณะนี้ 78แห่ง (+3) เตียงรวม 19,603 เตียง (ลดลง -422) แบ่งเป็น กทม. 15,999 เตียง ปริมณฑล 3,604 เตียง ผู้ป่วยรวม 19,189 ราย (เพิ่มขึ้น+2,810)เป็น กทม.15,627 ราบ และปริมณฑล 3,562 ราย เตียงคงเหลือ 434 เตียง (ลดลง-3,212) แบ่งเป็น กทม. 392 เตียง และปริมณฑล 42 เตียง
“จากการติดตามประเมิน สถานพยาบาลเอกชนเกือบทุกแห่ง มีระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอยู่แล้ว มีระบบการติดตามดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนหนึ่งที่สามารถเข้าร่วมได้ทันที ทั้งนี้ ตอนนี้สถานพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกทม.และปริมณฑล พร้อมให้บริการตรวจโควิด 19 และพร้อมเข้าร่วม Home isolation ได้”นพ.ธเรศ กล่าว