3 เรื่องต้องรู้ก่อน 'ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19' หลัง 'ฉีดวัคซีน'
ทำความรู้จักการ "ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด" หลัง "ฉีดวัคซีนโควิด-19" มีแบบใดบ้าง ควรทำเมื่อไร และจำเป็นมากแค่ไหน ?
นอกจากความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนแล้ว ยังมีความกังวลว่าหลังจาก "ฉีดวัคซีนโควิด-19" ร่างกายของเราจะมีภูมิคุ้มกัน "โควิด-19" เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
หลังจากที่เริ่มมีการแชร์การตรวจภูมิโควิดในโซเชียลมีเดีย และพบว่าภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในหลายเคส ทำให้การตรวจภูมิคุ้มกันเป็นอีกหนึ่งบริการที่ประชาชนกำลังมองหาเพื่อเข้าตรวจภูมิคุ้มกันของตัวเอง
ก่อนที่จะตัดสินใจไป "ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด" กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พามาทำความรู้จักการตรวจภูมิหลังฉีดวัคซีนเบื้องต้นกันสักนิด
- ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน คืออะไร ?
การตรวจภูมิคุ้มกันโควิด ที่กล่าวถึง ณ ที่นี้ เป็นการตรวจระดับ "ภูมิคุ้มกัน" ในร่างกาย ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งก่อนและหลังรับวัคซีน หรือตรวจหลังติดเชื้อ ซึ่งการตรวจภูมิหลังฉีดวัคซีน จะทำสำหรับผู้ที่ต้องการทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิในร่างกาย โดยสามารถตรวจหลังฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 14-28 วัน (ขึ้นกับชนิดวัคซีนที่ฉีด) แต่ไม่ควรนานเกิน 3 เดือน
- การตรวจภูมิคุ้มกันหลัง "ฉีดวัคซีนโควิด-19" มีแบบไหนบ้าง ?
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมการตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนที่มีบริการจากโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งพบว่ามีการตรวจ 3 แบบหลักในประเทศไทย ที่มีเทคนิคที่ใช้ในการตรวจภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน และใช้เวลาต่างกัน ดังนี้
1. Plaque Reduction Neutrazation Test (PRNT)
การตรวจแบบ PRNT คือเจาะเลือด ปั่นแยกซีรั่ม ทำการเพาะเชื้อบนเพลท จากนั้นจะหยอดซีรั่ม และเจือจางลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่สามารถทำลายเชื้อไปได้ครึ่งหนึ่ง และหยุด ซึ่งตรงนี้จะบอกได้ว่าภูมิคุ้มกันขึ้นมากน้อยแค่ไหน โดยวิธีการนี้ ต้องทำภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ที่มีเชื้อไวรัสโคโรนาฯ และเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น ใช้เวลาตรวจ 7 วัน
2. ELISA
การตรวจแบบอิไลซ่า (ELISA) เป็นวิธีตรวจผ่านการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาได้ทั้งแอนติเจน และแอนติบอดี ชนิด IgG และ IgM (แอนติบอดี 2 ใน 5 ชนิดที่ทําหน้าท่ีเก่ียวกับภูมิต้านทานของร่างกาย) ใช้เวลาตรวจ 24-36 ชั่วโมง
3. Covid19 Antibody Level Test
การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 (Covid19 Antibody Level Test) จะเป็นการหาระดับภูมิต้านทานต่อเชื้อ SARS-CoV2 ในส่วนของ Spike Protein ที่เป็นส่วนสำคัญในการนำเชื้อเข้าสู่เซลล์ และทำให้เกิดการติดเชื้อ ใช้เวลาตรวจ ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยจะมีการแสดงผลตรวจ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ตรวจภูมิคุ้มกัน' หลัง 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ค่าตรวจเท่าไหร่บ้าง?
- "ตรวจภูมิคุ้มกัน" หลัง "ฉีดวัคซีนโควิด" จำเป็นแค่ไหน ?
อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนสงสัย คือหลังจากที่ฉีดวัคซีนแล้วมีความจำเป็นต้องไปตรวจภูมิคุ้มกันหรือไม่ แพทย์ทยอยออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ และมีแนวโน้มไปทางที่ว่า "ไม่จำเป็นต้องตรวจ" หรือหากต้องการตรวจผลเหล่านี้ก็เพื่อ "ความสบายใจ" เท่านั้น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการตรวจภูมิหลังฉีดวัคซีนไว้ว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจหาภูมิต้านทานแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันแต่ละห้องปฏิบัติการ น้ำยาที่ใช้ตรวจ หลากหลายชนิดกันมาก ยังไม่มีมาตรฐานกลาง จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้
เช่น หน่วยที่ใช้วัดก็แตกต่างกัน เช่นเป็น AU (Arbitrary Unit) ตามพจนานุกรม Arbitrary แปลว่า โดยพลการ หรือตามอำเภอใจ หน่วยเป็นยูนิตก็มี ยังไม่มีมาตรฐานกลางขององค์การอนามัยโลกที่เข้ามาปรับ หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ก็มี เป็นตัวเลขการทำให้เจือจางก็มี เช่น 1:20, 1:40, 1:80…. และยังมีการใช้วิธีการตรวจแบบรวดเร็วอีก โดยการหยดเลือดแล้วดูแถบสี ซึ่งความถูกต้องต่ำมาก
การแปลผลจะมีการสับสนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าถือแค่ว่าตรวจพบหรือไม่พบ จะพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตรวจพบ ถ้าทำวิธีที่ไว แล้วเมื่อพบก็บอกไม่ได้ว่าระดับเท่าไหร่ที่จะป้องกันโรคได้ และยิ่งเปรียบเทียบต่างห้องปฏิบัติการ ต่างวิธีจะเห็นว่าตัวเลขแตกต่างกันมาก ทำให้เกิดการสับสนมากในขณะนี้ จึงเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประเทศไทยจะต้องสูญเสียเงินทอง ออกต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก
เมื่อตรวจแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม ไม่ได้ใช้ตัวเลขดังกล่าวมาตัดสินใจ ในการป้องกันหรือการให้วัคซีนเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่สร้างความสบายใจหรือไม่สบายใจเกิดขึ้น และเสียเงินทองโดยใช่เหตุ
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า "ปัจจุบันการตรวจภูมิคุ้มกันที่มีให้บริการยังไม่สามารถบอกได้ว่า ระดับของภูมิคุ้มกันแบบแอนติบอดีที่ตรวจพบสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องตรวจหาระดับแอนติบอดี หลังได้รับวัคซีน"
ส่วน ผศ.ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร และหัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้อธิบายว่า ความจริงแล้วการตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในห้วงเวลาปัจจุบัน
เนื่องจากวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และตรวจสอบคุณภาพผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งตามข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนี้พบว่า ส่วนใหญ่หรือมากกว่า 90% ของผู้ฉีดวัคซีนโควิดจะมีภูมิคุ้มกัน
อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ถึงระดับภูมิคุ้มกันที่สัมพันธ์กับการป้องกันการติดโรคโควิด-19 (Correlates of protection) ดังนั้นการตรวจภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน ณ ปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของความสบายใจของผู้เข้ารับการตรวจภูมิที่มีทุนทรัพย์เพียงพอ
ที่มา: