ตร. ย้ำฝ่า 'เคอร์ฟิว' จับส่งศาลทันที คุก 2 ปี ปรับ 40,000
ผบช.น. แจงขั้นตอนเดินทางช่วง 'เคอร์ฟิว' เว้น 6 อาชีพ ต้องมีเอกสารรับรองจากต้นสังกัด นอกเหนือจากนี้ดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ
12 ก.ค.2564 เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)พร้อมด้วยพล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ลงพื้นที่ไปดูการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชเทวี ขาเข้า ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของพื้นที่ สน.พญาไท และแยกนานา ถนนสุขุมวิท พื้นที่รับผิดชอบของ สน.ลุมพินี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 88 ด่านตรวจชั้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งระหว่างเวลา 21.00 น.จนถึงเวลา 04.00 น. ที่ตั้งเพิ่มเติมนอกเหนือจากด่านคัดกรองโควิด-19 ขาเข้ารอบกรุงเทพมหานคร 6 จุดหลัก ซึ่งตั้งตลอด 24 ชั่วโมง
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ เปิดเผยว่า ตำรวจนครบาลมีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกจุดตรวจ โดยกำชับให้มีการป้องกันการแพร่ระบาดระหว่างการตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะ โดยตำรวจจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และฉีดพ่นเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดตลอดเวลา โดยตำรวจที่มาปฎิบัติหน้าที่ยังด่านตรวจจะต้องฉีดวัคซีนครบโดส เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและปลอดภัย
นอกจากนี้ บุคคลที่ผ่านด่านตรวจทุกคนจะถูกตรวจสอบทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย ว่า เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับหรือไม่ เป็นการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไปในตัวด้วย อีกทั้งยังฝากถึงประชาชนให้ปฏิบัติตาม อย่าออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่จำเป็น หากตรวจสอบแล้วพบว่าออกนอกเคหะสถานโดยไม่จำเป็นก็จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน
สำหรับการตั้งด่านตรวจดังกล่าว ย้ำว่า หากเป็น 6 กลุ่มอาชีพ คือ บุคลากรทางการแพทย์ , พนักงานขนส่งสินค้า , บุคลากรในระบบขนส่งมวลชน , กลุ่มบุคคลที่ต้องออกไปช่วยเหลือประชาชน เช่น เจ้าหน้าที่กู้ภัย-กู้ชีพ , ผู้ดูแลระบบสาธารณูปโภคทุกรูปแบบ และบุคคลที่ต้องทำงานกะกลางคืน ที่ต้องเดินทางในช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิวสามารถทำได้ แต่ต้องมีเอกสารรับรองจากต้นสังกัดด้วย
ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นใน 6 กลุ่มนี้ ถูกเรียกตรวจและพบว่ามีเจตนาฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจก็จะดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งมีโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และจะคุมตัวส่งฟ้องศาลเช้าวันรุ่งขึ้นทันที