ไทยเจอคนติดโควิดผสม 'อัลฟา-เดลตา' ใน กทม.
ไทยเจอคนติด 'โควิดผสมอัลฟา-เดลตา' 7 ราย พื้นที่กทม.ในแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 คนติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ หวั่นปล่อยเจอบ่อย ไวรัสกลายพันธุ์เป็นไฮบริด พบ 1 รายที่บึงกาฬกลับจากไต้หวันติดเบตา เช็คเบื้องต้นไม่ตรงกับเบตาในภาคใต้-ไต้หวัน เร่งหาต้นตอ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจโดยลงไปตรวจในแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกทม. พบว่า การติดเชื้อในลักษณะที่ว่าเป็นการ "ติดเชื้อผสม" หมายความว่าในตัวคนเดียวมีทั้ง 2 สายพันธุ์ มีอยู่ประมาณ 7 ราย จากทั้งหมดกว่า 200 ราย อันนี้บอกสัญญาณว่า ถ้ามีการติดเชื้อผสมอีกบ่อยๆและจำนวนมาก จะเกิดลูกผสมไฮบริดเกิดเป็นไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งการที่รัฐบาลหยุดการเดินทางและมีมาตรการที่เข้มงวดต่างๆ เพื่อลดโอกาสของการการผสมเชื้อเกิดขึ้นบ่อย ซึ่งลักษณะเกิดในประเทศอื่นๆในโลกนี้ด้วย
“ทั้ง 7 ราย ขณะที่ดูอาการยังสบายดี ซึ่งการติดเชื้อผสมนี้ไม่ได้บอกว่าผสม 2 ตัวจะทำให้รุนแรงขึ้น แต่ต้องจับตาดูต่อไป ซึ่งการตรวจรหัสพันธุกรรมเข้าได้ทั้งอัลฟาและเดลฟาทั้ง 7 ราย ทั้งหมดยังแข็งแรงดี ระบบเฝ้าระวังก็ดำเนินการต่อไป”นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า จากการที่ประเทศไทยได้เฝ้าระวังสายพันธุ์ตั้งแต่ช่วงเม.ย.2564 เป็นต้นมา โดยตรวจสายพันธุ์แล้วราว 15,000 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) 74% สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) 24% และสายพันธุ์เบตา(แอฟริกาใต้) 1.7% ข้อมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบสายพันธุ์เดลตา เพิ่มมาเป็น 57% ส่วนในภูมิภาค 23% ภาพรวมทั้งประเทศเป็นอัลฟา 51.8 % เดลตา 46.1% และเบตา 2.1% จึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์ของไวรัส
“ในกทม.เดลตาระบาดมากกว่าอัลฟาแล้ว และพบสายพันธุ์เดลตาใน 61 จังหวัด ซึ่งขยายวงออกไปในจังหวัดที่ยังไม่เคยพบ ที่น่าสังเกตพบเดลตาในภาคใต้พอสมควร เช่น สุราษฎร์ ภูเก็ต นราธิวาส สงขลา ตรัง พัทลุง และสตูล ส่วนจังหวัดอื่นๆที่พบค่อนข้างมาก คือ อุดรธานี 40 ราย ชลบุรี 32 ราย กำแพงเพชร 14 ราย คาดว่าอีกไม่นานจะกินพื้นที่เกือบทั้งหมดในไทย” นพ.ศุภกิจกล่าว
สำหรับสายพันธุ์เบต้า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ตอนบน 24 ราย และภาคใต้ตอนล่าง 60 ราย และพบน่าแปลกใจ 1 รายเจอที่จ.บึงกาฬ เป็นคนงานกลับมาจากไต้หวัน ตอนกักตัวในสถานที่กักกันของรัฐมีการตรวจไม่พบ เมื่อกลับบ้านและป่วย จึงทำการตรวจถึงพบว่าติดโควิดเป็นสายพันธุ์เบตา และได้ถอดรหัสพันธุกรรมเทียบกับสายพันธุ์เบตาในไต้หวันและ ภาคใต้ของประเทศไทย พบว่าเบตาในรายนี้ไม่ได้มาจากทั้ง 2แหล่ง ต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติมและสอบสวนคนใกล้ชิดของรายนี้ทั้งหมดแล้วอยู่ในระหว่างรอผล แต่เบตาส่วนใหญ่แพร่ไม่เร็ว ยังกระจุกภาคใต้เป็นส่วนใหญ่