เร่งตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ 'Antigen Test Kit'

เร่งตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ 'Antigen Test Kit'

สธ.-สปสช. และคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล เร่งตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ "Antigen Test Kit" แล้วให้ "คลินิกชุมชนอบอุ่น" ดูแลที่บ้านหรือชุมชน ชี้ช่วง 14 วันระดมหาผู้ติดเชื้อแล้วเข้าสู่การดูแลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด@ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 ก.ค. 2564 โดยระบุว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากและความต้องการตรวจหาเชื้อก็มีจำนวนมากแต่บริการตรวจมีไม่เพียงพอ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายชัดเจนให้ใช้การตรวจแบบ "Antigen Test Kit" (ATK) ซึ่งจะรู้ผลเร็วกว่าการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่ง สปสช.ก็ได้ร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกตามพื้นที่ต่างๆ ใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งหากว่าผลตรวจเป็นบวกและอาการไม่รุนแรงก็จะให้ดูแลที่บ้าน (Home isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) ภายใต้การดูแลของแพทย์ประจำครอบครัวหรือแพทย์ที่อยู่ในระบบปฐมภูมิ ใน "คลินิกชุมชนอบอุ่น" หรือศูนย์บริการสาธารณของ กทม. ซึ่งรูปแบบนี้ใช้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การให้ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงดูแลที่บ้านก็เพื่อเก็บเตียงในโรงพยาบาลให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้ที่มีโรคอ้วน มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น เพราะคนกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ให้ดูแลอยู่ในบ้านไม่ออกไปไหน มีอาหารให้วันละ 3 มื้อ โดยทาง "คลินิกชุมชนอบอุ่น" จะมีเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน มีแพทย์วิดีโอคอลติดตามอาการวันละ 2 ครั้งเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล เวลาทำวิดีโอคอลก็จะดูว่าอุณหภูมิร่างกายเท่าไหร่ ระดับออกซิเจนในเลือดเท่าไหร่ ถ้าออกซิเจนในเลือดลดลงถึงในระดับอันตรายก็จะมีรถพยาบาลไปรับตัวมาเอกซเรย์ปอด ถ้าเป็นปอดบวมก็อาจจะต้องย้ายเข้ามารักษาในโรงพยาบาล

162610225377

นอกจากนี้ ในเรื่องของยาก็จะจ่ายยาให้เร็วขึ้นเพราะเชื่อว่าการจ่ายยาทันทีจะสามารถลดการเปลี่ยนแปลงอาการจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองไปได้มาก แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้ว่าอาการจะไม่รุนแรงก็จะให้ไปนอนโรงพยาบาลทันที

"ตอนนี้เรามีคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 200 กว่าแห่งใน กทม. ก็ใช้กลไกตรงนี้ก่อน แล้วถ้าหากมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นอาจจะใช้คลินิกที่มีอยู่ที่ไม่ใช่คลินิกชุมชนอบอุ่นด้วยก็ได้ เพราะว่าใน กทม.มีคลินิกทั่วไปในประมาณ 5,000 แห่ง" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ที่ตรวจแล้วผลเป็นบวกแล้วอยากเดินทางกลับไปรักษาในภูมิลำเนา สามารถโทรมาสายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง สปสช.จะมีรถบัสเตรียมไว้ส่งตัวผู้ป่วยทั่วประเทศและช่วยประสานโรงพยาบาลปลายทางให้ รวมทั้งไม่แนะนำให้เดินทางโดยรถสาธารณะไปเองเพราะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ดังนั้น ถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสามารถโทรมา 1330 ได้เลย

"วันนี้เริ่มต้นการบังคับใช้มาตรการลดการเดินทาง เป็นโอกาสดีที่ต้องรีบค้นหาผู้ติดเชื้อจำนวนมากๆออกมา เมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้วก็จะเกิดการดูแลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากทำได้ดีเชื่อว่าการแพร่ระบาดก็น่าจะมีสัญญาณลดลง ขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่ตรวจแล้วผลเป็นลบหรือไม่ติดเชื้อก็ยังแนะนำให้กักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน เพราะในตอนตรวจอาจยังมีเชื้อในร่างกายไม่มากพอให้ชุดตรวจตรวจจับได้ ถ้าทุกคนทำแบบนี้ 14 วันผ่านไป อุบัติการณ์การติดเชื้อก็น่าจะลดลง" นพ.จเด็จ กล่าว