'หมอประสิทธิ์' แนะก่อนวางขาย 'Antigen Test Kit' วางระบบให้พร้อม
หลังจากที่ประชาชน จะได้มีโอกาสเข้าถึงชุดตรวจ 'Antigen Test Kit' ได้ง่ายขึ้นในสัปดาห์หน้า 'หมอประสิทธิ์' แนะควรเตรียมระบบรองรับให้พร้อมทั้งรับผู้ป่วยใหม่ และใช้ให้ถูกวิธี หวั่นตรวจไม่พบ เชื้อหลุดรอด
จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชุดตรวจและน้ำยาเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2(เชื้อก่อโรค COVID-19)แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง (COVID -19 Antigen Test Self-test kits) และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จะมีผลให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงชุดตรวจได้ง่ายขึ้น ก็มีชุดตรวจที่ผ่านการอนุญาตจาก อย. เพิ่ม 6-7 ยี่ห้อ คาดว่าจะมีผลในสัปดาห์หน้า ส่วนการควบคุมราคาจะประสานกระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งดำเนินการ เนื่องจากเข้าใจว่าขณะนี้มีความต้องการในประชาชนมาก
วันนี้ (13 ก.ค. 64) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าว อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกและในประเทศไทย : ถอดบทเรียนเพื่อก้าวผ่านวิกฤติ โดยระบุ ว่าถึงข้อห่วงใยกรณีการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ว่า ประเด็นการเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อตรวจพบเชื้อเป็นผลบวกแล้วจะดำเนินการอย่างไร หรือเป็นลบยังเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้มีคนรอตรวจเชื้อจำนวนมาก ดังนั้น การมีเครื่องมือมาช่วยก็ดี แม้จะไม่มีความแม่นยำสูง แต่อย่างน้อยแม่นยำ 80% ก็ยังดี เพราะตรวจได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะในสถานพยาบาล แต่ที่สำคัญต้องมีไกด์ไลน์ชัดเจน ไม่ใช่พบว่า ผลเป็นลบแล้ววางใจ ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ระวังตัวก็ไม่ถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สิ่งสำคัญต้องมีไกด์ไลน์ชัดเจนว่า หากไม่มีอาการ แต่มาใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้วพบว่า ผลเป็นบวก จะต้องดำเนินการอย่างไร หรือหากมีอาการตรวจพบผลบวกจะเป็นอย่างไร ต้องมีระบบรองรรับ ขณะเดียวกันจะช่วยให้การตรวจ RT-PCR ตรวจในคนที่เหมาะสมกับการตรวจ ทำให้การตรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
- 3 ปัจจัย สำคัญ ก่อนวางขาย Antigen Test Kit
อันดับ 1 Antigen Test Kit ที่จะมีการจำหน่ายต้องมีคุณภาพ
อันดับ 2 คนทำต้องทำอย่างถูกวิธี หากทำแล้วไม่ถูกวิธี โอกาสเกิดผลบวก หรือผลลบเทียมจะง่ายขึ้น
อันดับ 3 ระบบรองรับต้องเตรียมพร้อม ว่าจะเข้ามาสู่ระบบอย่างไร หากตรวจพบเชื้อจะเข้าสู่ระบบอย่างไร
"ซึ่งโจทย์พวกนี้ ตนยังไม่เห็นคำตอบชัดเจน คนเกี่ยวข้องต้องรีบคิด ก่อนวางขายในท้องตลาด เพราะยังไม่ชัดเจนว่า จะเก็บยังไง ให้เหมาะสม และถูกวิธี อย่างการปั่นจมูก ถ้าปั่นนิดเดียวเพราะกลัวเจ็บ แล้วปรากฏว่า ไม่พบเชื้อ แล้วกลับไปใช้ชีวิตปกติ ซึ่งตรงนี้น่ากลัว” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว