เปิดโรดแมป 'โอสถสภา" มุ่งความยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โตทั้งห่วงโซ่คุณค่า
'โอสถสภา' ลุยโรดแมปความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีให้ผู้บริโภค สร้างการเติบโตทั้งห่วงโซ่คุณค่า(Value Chain) จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน ลดนำเข้า-เพิ่มใช้วัตถุดิบในประเทศ เปลี่ยนแพ็คเกจจิ้งสินค้ารีไซเคิลได้
นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โอสถสภา เปิดเผยว่า โอสถสภามีแนวทางการพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสร้างพลังชีวิตที่ยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยงเสาหลัก 3 ด้านเข้าด้วยกัน ได้แก่ 1) เสาหลักด้านธุรกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนให้กับธุรกิจของโอสถสภาและคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า 2) เสาหลักด้านสังคม ซึ่งมุ่งสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมพนักงานในองค์กรให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของธุรกิจ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วยโครงการที่มุ่งพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับคนในสังคม 3) เสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งมั่นลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยเสาหลักทั้งสามนี้มีบุคลากรในองค์กร (People) เป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนแผนให้บรรลุตามเป้าประสงค์ที่วางไว้
จากแนวคิดของเสาหลักทั้งสาม โอสถสภาได้กำหนดโรดแมปความยั่งยืนไว้ 5 ด้านหลัก โดยมีการตั้งเป้าหมายในแต่ละด้านตามแผน 5 ปี (2563 – 2568) ไว้อย่างชัดเจน ได้แก่
1. การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply chain) โอสถสภามุ่งมั่นจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และช่วยยกระดับความรู้และช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับคู่ค้ารายย่อย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตให้แก่บริษัท สมุนไพรที่สามารถปลูกและเติบโตในประเทศได้นั้น โอสถสภาจะลดการนำเข้า โดยใช้วัตถุดิบสมุนไพรจากแหล่งผลิตในประเทศ สำหรับสมุนไพรที่ไม่สามารถปลูกในประเทศได้ ก็จะส่งเสริมการศึกษาทดลองปลูกในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการประเมินด้านความยั่งยืน และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีในการดำเนินธุรกิจให้แก่คู่ค้าอีกด้วย
2. การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค (Consumer Health & Well-being) โอสถสภามุ่งมั่นที่จะส่งมอบสินค้าที่ดีต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภค โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี 100% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจะมีส่วนประกอบของน้ำตาลน้อยลง และ 50% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและลูกอมจะเป็นสูตรปราศจากน้ำตาล ที่ผ่านมา ได้เริ่มปรับลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์บางรายการแล้ว อาทิ ผลิตภัณฑ์แบรนด์โบตัน นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์สุขภาพที่ดีให้กับคนไทย
3. การใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging) เนื่องจากมีการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการลดปริมาณขยะ โอสถสภามีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ภายในปี 2573 ผลิตภัณฑ์ของสินค้าในเครือทั้งหมดจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทย
4. การบริหารจัดการน้ำในกระบวนการผลิต (Water Management) น้ำเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเครื่องดื่ม และเป็นทรัพยากรสำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนท้องถิ่น โอสถสภาจึงให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โอสถสภาตั้งเป้าลดการใช้น้ำในการผลิตลงให้ได้ 40% แม้จะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ด้วยความมุ่งมั่น และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โอสถสภาจึงพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว
5. การบริหารจัดการพลังงานและสภาพภูมิอากาศ (Energy & Climate Change Management) โอสถสภามุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท โดยวางเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่าภายในปี 2568 จะลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองให้ได้ 10% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% โดยเลือกใช้พลังงานทางเลือกต่างๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมการลดการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด
นอกจากนี้ ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่ม ซึ่งมีปริมาณการบริโภคเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โอสถสภาพร้อมเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยลดปริมาณขยะ จับมือกรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ กรมการค้าภายใน กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 และคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของตำรวจ จัดทำโครงการ “Bottle to Bottle” หรือ “ส่งขวดแก้วสู่ขวดแก้ว” ส่งเสริมการนำขวดแก้วที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตขวดใหม่ โดยจะเริ่มทดลองนำร่องในชุมชนย่านหัวหมาก ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโอสถสภาในปลายปี 2564
“ผลิตภัณฑ์ของโอสถสภาเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 130 ปี ความผูกพันกับสังคมไทยทำให้โอสถสภามีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สังคม และสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่าด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและการผลักดันแผนการสร้างความยั่งยืนด้านธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ จะทำให้โอสถสภาสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเติบโตอย่างมั่งคงและยั่งยืนร่วมกับสังคมไทย”