เปิด '3 สมมติฐาน' ธนาคารโลก สู่เส้นทางฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย
สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งการแพร่ระบาดระลอกนี้ทวีความรุนแรงจากการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "เดลต้า"
ส่งผลให้สำนักวิจัยหลายแห่งปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงจากเดิมคาดจะเติบโตได้ราว 3% เหลือเติบโตไม่ถึง 1% และในกรณีเลวร้ายเหลือ 0% ล่าสุดวานนี้ (15 ก.ค.) ในรายงาน "เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" โดยธนาคารโลก ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2564 เหลือเติบโต 2.2% จากคาดการณ์เดิมในเดือน มี.ค.2564 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.4% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามที่มีต่อการบริโภคภาคเอกชนและแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจำนวนที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปีนี้
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ 2.4% เพราะถูกผลกระทบจากมาตรการลดและจำกัดการเคลื่อนย้าย ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และการสูญเสียรายได้ แม้จะได้รับมาตรการช่วยเหลือทางสังคมบางส่วนแล้วก็ตาม
ขณะที่การท่องเที่ยวปี 2564 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพียง 6 แสนคน จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4-5 ล้านคน และต่ำกว่าในปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศสูงถึง 40 ล้านคน
ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายหากมาตรการล็อกดาวน์ลากยาวในไตรมาส 3 ปี 2564 (ก.ค.-ก.ย.) ธนาคารโลกคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ 1.2% และ 2.1% ในปี 2565
อย่างไรก็ตามปัจจัยหนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการทางการคลังที่จะออกมาจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม โดยการส่งออกสินค้าและบริการยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของไทย ตามทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกต่อชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลผลิตทางการเกษตร โดยคาดว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโต 7.3%
ส่วนมาตรการทางการคลัง ล่าสุด ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อจะใช้ในการช่วยเหลือครัวเรือน และคาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีให้เพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1.5% เมื่อเทียบกับกรณีฐานที่คาดไว้ ขณะที่ความกังวลระดับหนี้สาธารณะของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาในปีนี้ที่ 59.3% และปี 2565 ที่ 62.1% ซึ่งมากกว่าเพดานหนี้ที่กฎหมายระบุไว้ที่ 60% แต่ความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เป็นเงินตราภายในประเทศ อีกทั้งหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยยังมีระดับเงินทุนสำรองที่ค่อนข้างสูง
ขณะที่ข้อกังวลของธนาคารโลก คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง สะท้อนจากระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจาก 80% มาอยู่ที่ 90% โดยหลักมาจากรายได้ที่หายไปในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้ภาระหนี้ต่อรายจ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการเยียวยาและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยแนะนำรัฐบาลควรดูแลให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจำกัดภาระทางการคลังโดยรวม เพราะการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังคาดเดาได้ยาก
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากความมีประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และความไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สมบูรณ์ในการดำเนินการตามแผนด้านการคลัง เหล่านี้อาจมีผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลง
"หากอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรอยู่ในดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2564 คาดว่าประมาณ 70% ของประชากรจะได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มภายในสิ้นปีนี้ และจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มภายในกลางปี 2565 และจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป"
เกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารโลกคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่กลับไปอยู่ในระดับก่อนการระบาดจนถึงปี 2565 ขณะที่การฟื้นตัวคาดว่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่สม่ำเสมอ โดยคาดการณ์จีดีพีปี 2565 จะปรับขึ้นสูงอยู่ที่ 5.1%
อย่างไรก็ตามประมาณการดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานที่สำคัญ 3 ประการได้แก่ 1.ความก้าวหน้าของอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศ 2.ความเพียงพอของการได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้นจนทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ และ 3. ความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณ 5 แสนล้านบาท
เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก คาดว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกไม่รวมจีนปีนี้ เศรษฐกิจขยายตัว 4% ลดลงจาก 4.4% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน มี.ค. เนื่องจากหลายประเทศ เช่น เมียนมาเศรษฐกิจดิ่งลงกว่าคาด
หากรวมจีนเข้าไปด้วย ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปีนี้จะขยายตัว 7.7% สูงกว่า 7.4% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน มี.ค. ส่วนจีนปีนี้เติบโต 8.5%
มัลพาส กล่าวด้วยว่า ความเร็วในการฉีดวัคซีนของชาติต่างๆ ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโต หลายประเทศในภูมิภาคไม่มีทีท่าว่าสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ครบโดสก่อนปี 2567
"ความสำคัญเฉพาะหน้าของประเทศกำลังพัฒนาคือประชาชนฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงสอดรับกับแผนการฉีด"
ประธานธนาคารโลก กล่าวด้วยว่า เขากังวลเรื่องการฟื้นตัวไม่เท่ากันในการฟื้นตัวสองระดับประเทศกำลังพัฒนาฟื้นตัวหลังเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ที่แกร่งกว่าเนื่องจากประชาชนฉีดวัคซีนครบโดสมากกว่า
"นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราถึงให้ความสำคัญมากกับการขยายการเข้าถึงวัคซีน" มัลพาส ระบุ ไม่กี่วันก่อนเขาเพิ่งประกาศว่า ธนาคารโลกเพิ่มงบประมาณซื้อและฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจาก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์เป็น 2 หมื่นดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ตอนนี้กำลังต้องการวัคซีนอย่างมาก