เอกชนโอดกกท.บังคับถ่ายสินค้าท่าเรือเอ แหลมฉบังทำต้นทุนพุ่ง
ภาคเอกชน แห่ร้อง “คมนาคม-พาณิชย์-สุพัฒนพงษ์” จี้ “การท่าเรือ” ชะลอบังคับใช้ประกาศ ที่บังคับให้เรือชายฝั่งต้องขนถ่ายตู้สินค้าขาเข้า เฉพาะที่ท่าเรือเอ แหลมฉบังเท่านั้น เหตุเป็นการผูกขาด เพิ่มภาระต้นทุนให้ 1.2-1.5 พันบาท/ตู้ ที่สำคัญ ไร้ประสิทธิภาพบริหา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้ ภาคเอกชนหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และนำเข้า ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและขนส่งสินค้า (กบส.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีละรมว.พลังงาน เป็นประธาน เพื่อเร่งรัดให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค.64 ที่มีมติให้กทท.ชะลอบังคับใช้ประกาศ เรื่อง ให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือเอ) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.63 ออกไปก่อน เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่ชะลอการบังคับใช้ ส่งผลให้ผู้ส่งออก-นำเข้า และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเดือดร้อนมาก
ทั้งนี้เพราะการประกาศดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจผูกขาดของกทท. ทำให้เรือชายฝั่ง ที่จะขนถ่ายตู้สินค้าขาเข้าจากเรือคอนเทนเนอร์ ไม่สามารถขนถ่ายตู้ที่ท่าเรืออื่นๆ ในแหลมฉบังได้ เช่น ท่าเรือระหว่างประเทศได้ เพราะถูกบังคับให้ขนถ่ายตู้เฉพาะที่ท่าเรือเอเท่านั้น ส่งผลให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,236 บาท/ตู้ 20 ฟุต และ 1,500 บาท/ตู้ 40 ฟุต แม้กทท.เรียกเก็บจากสายการเดินเรือ แต่สายเรือหลายสายก็มาเรียกเก็บจากผู้นำเข้า
นอกจากนี้ กทท.ยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารท่าเรือ ก่อให้เกิดความแออัดที่ท่าเรือแหลมฉบัง จนเกิดความล่าช้าในการขนส่ง 7-15 ชั่วโมง บางครั้งยาวนานเป็นสัปดาห์ โดยกทท. คาดว่า ท่าเรือเอ จะขนถ่ายตู้ได้ปีละ 300,000 ตู้ แต่กลับทำได้เพียงวันละ 560 ตู้ หรือปีละราว 200,000 ตู้ และปัจจุบัน มีตู้ขาเข้าตกค้างกว่า 4,000-5,000 ตู้ ต้องใช้เวลาเคลียร์ตู้นานกว่า 8 วัน ยังไม่นับรวมตู้ขาเข้าที่ทยอยเข้ามาทุกวัน ผู้ประกอบการจึงต้องเปลี่ยนมาขนถ่ายทางบกแทน ซึ่งนอกจากจะทำให้เพิ่มต้นทุนการขนส่งแล้ว ยังสร้างปัญหาการจราจรติดขัดในแหลมฉบังเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับสาเหตุที่กทท. ยังไม่ดำเนินการตามมติครม. น่าจะเป็นเพราะต้องการมีรายได้นำส่งกระทรวงการคลังตามเป้าหมาย เนื่องจากหลังการเปิดใช้ท่าเรือเอ เดือนก.พ.63 เกิดโควิด-19 ระบาดพอดี ส่งผลให้การใช้บริการลดลง จากการส่งออก และนำเข้าลดลง จึงออกประกาศบังคับใช้ท่าเรือเอ แต่ความพยายามแก้ปัญหาขาดทุนระยะสั้นของกทท. กลับสร้างภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ภาคเอกชนเห็นว่า การใช้ท่าเรือเอลดลง เป็นเพราะผลกระทบจากโควิด เมื่อโควิดคลี่คลาย การส่งออก นำเข้าจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้กทท. ทำตามมติครม. ที่ให้ชะลอการบังคับใช้ชั่วคราวออกไปก่อน และให้ทีดีอาร์ไอ ศึกษาโครงสร้างต้นทุนการขนส่งสินค้าชายฝั่งของท่าเรือแหลมฉบังให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อใช้กำหนดอัตราค่าภาระในการใช้บริการที่เหมาะสม และเร่งปรับปรุงการบริหารจัดการและการประกอบการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเรือเอ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
“ถ้ากทท.ยังไม่ยอมดำเนินการตามมติครม. ภาคเอกชนก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้อีกแล้ว เพราะครม.ใหญ่สุดแล้ว สรท.ทะเลาะกับกทท.เรื่องนี้แรงมาก เราเดินเกมมาสุดทางแล้ว ไม่มีทางให้เดินอีกแล้ว”