รู้จัก 'สภากาชาดไทย' สั่งซื้อ 'โมเดอร์นา' ฉีดฟรีแก่ประชาชน
“ข่าวดี” สำหรับคนไทย เมื่อทาง ‘สภากาชาดไทย’ ได้เจรจากับทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีน 'โมเดอร์นา' (Moderna) 1 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้แก่ประชาชนฟรี คาดนำเข้าพร้อมกับ 5 ล้านโดส ที่โรงพยาบาลเอกชนสั่งจอง
สภากาชาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 15 ก.ค.2564 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ และองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ในการสั่งยอดจอง วัคซีน โมเดอร์นา เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในท้องที่ โดยกำหนดภายในวันที่ 21 ก.ค.นี้ และจะต้องชำระค่าวัคซีนในราคา 1,300 บาท ต่อโดส โดยหากได้รับอนุมัติจากสภากาชาดไทย จะต้องชำระเงินภายในวันที่ 23 ก.ค.2564
- จากสภาอุณาโลมแดง เป็น ‘สภากาชาดไทย’
ก่อนที่จะได้รับการฉีด วัคซีน โมเดอร์นา ฟรี (หากผู้ว่าฯ และอบจ. ได้สั่งซื้อ) ขอย้อนเรื่องราวของ ‘สภากาชาดไทย’ เหตุใด?ธนาคารเลือด ที่หลายๆ คนเรียก กลายเป็น ผู้จัดหาซื้อ วัคซีนโควิด 19 มาฉีดให้แก่ประชาชนฟรี
‘สภากาชาดไทย’ เป็น องค์กรการกุศล เพื่อมนุษยธรรม ที่จัดตั้งขึ้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับเขตแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและมีการสู้รบเกิดขึ้น เป็นผลให้มีทหารเสียชีวิต และบาดเจ็บ ได้รับความทุกข์ทรมานจำนวนมาก แต่ยังไม่มีองค์การกุศลใดเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้เป็นกิจลักษณะ
กุลสตรีไทยที่สูงศักดิ์ในเวลานั้น โดยการนำของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของ เพื่อส่งไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และมีความเห็นว่าควรจะมีองค์การใดองค์การหนึ่งช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของทหาร เช่นเดียวกับองค์การกาชาดของต่างประเทศ จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงเป็นชนนีบำรุง คือ เป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การ เพื่อบรรเทาทุกข์ยากของทหาร
ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชดำริว่า เป็นความคิดที่ต้องด้วยแบบอย่าง อารยประเทศที่ เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2436
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระยุพราชเสด็จ กลับจากการศึกษา ในประเทศอังกฤษผ่านมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น ทำให้ทรงพระดำริว่า ถ้าได้จัดโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทย ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
ฉะนั้น เมื่อ สมเด็จพระราชบิดา เสด็จสู่ สวรรคาลัย พระองค์จึงได้ร่วมกับพระราชภราดาภคินี ทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ แล้วโปรดเกล้าฯ ขนานนามตามพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในพระราชบิดา ให้โรงพยาบาลนี้ เป็นของสภากาชาดสยาม เมื่อ พ.ศ. 2457
ชื่อสภาอุณาโลมแดง และสภากาชาดนี้ เรียกปะปนกันตลอดมา แต่เมื่อ พ.ศ. 2453 ชื่อสภาอุณาโลม แดงก็สูญไป คงใช้กันแต่ สภากาชาดสยาม หรือ สภากาชาดไทย ตามชื่อประเทศ ซึ่งเปลี่ยนจาก สยามเป็นไทย
- หลักการบริหารงาน ‘สภากาชาดไทย’
การบริหารงาน สภากาชาดไทย มีพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นสภานายิกาสภากาชาดไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย
โดยจะมีคณะกรรมการสภากาชาดไทย มีภารกิจในการควบคุมและกำกับกิจการของสภากาชาดไทยประกอบด้วย สภานายก อุปนายกผู้อำนวยการฯ กรรมการ 25 ท่าน และกรรมการผู้แทนภาคเหล่ากาชาดจังหวัด 12 ภาค จำนวน 12 ท่าน มีการประชุมคณะกรรมการฯ ปีละ 3 ครั้ง เป็นอย่างน้อย
นอกจากนั้นจะมี คณะกรรมการบริหารสภากาชาดไทย ซึ่งประกอบด้วย อุปนายิกาผู้อำนวยการฯ เลขาธิการ เหรัญญิก กรรมการสภากาชาดไทยผู้ได้รับการแต่งตั้งจากอุปนายิกาผู้อำนวยการฯ จำนวน 4 ท่าน มีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภากาชาดไทย ตามที่ได้รับมอบหมายจากกรรมการสภากาชาดไทย และให้มีอำนาจในการอนุมัติแทนกรรมการสภากาชาดไทย ในระหว่างที่ไม่มีการประชุมกรรมการสภากาชาดไทย คณะกรรมการบริหารประชุมเดือนละ 1 ครั้ง
รวมถึงมี คณะกรรมการจัดการสภากาชาดไทย ประกอบด้วย เลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิกฯ ผู้อานวยการสำนักงานทุกสำนักงาน มีหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสภากาชาดไทยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ข้อบังคับ ข้อระเบียบ และระเบียบต่างๆ รวมถึงมติคณะกรรมการสภากาชาด และคณะกรรมการบริหารของสภากาชาด และให้มีอำนาจในการอนุมัติแทนคณะกรรมการบริหาร ในอำนาจต่างๆ ที่กำหนดไว้ในข้อระเบียบกรรมการบริหาร และระเบียบต่างๆ ที่ออกโดยกรรมการบริหาร คณะกรรมการเจ้าหน้าที่ประชุมทุกสองสัปดาห์
ปัจจุบัน มีนายเตช บุคนาค เป็นเลขาธิการสภากาชาดไทย
- หน้าที่ของ ‘สภากาชาดไทย’ ทำไมซื้อ ‘โมเดอร์นา’
ภารกิจหลักของ สภากาชาดไทย จะมีหลักๆ อยู่ 4 ประเด็น คือ
1.บริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย
มีหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนและผู้ด้อยโอกาส ให้บริการชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อที่มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางจัดหาและบริการดวงตาและอวัยวะที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และบุคลากรด้านสาธารณสุข อีกทั้งผลิตบุคลากรพยาบาลเฉพาะทาง
2.บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย
สภากาชาดไทยสามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว และให้บริการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ภัยแล้ง และภัยหนาว ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีโดยการมีส่วนร่วมของสังคมและชุมชน มีการจัดการระบบอาสาสมัครอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบพร้อมรับภัยพิบัติอีกด้วย
3.การบริการโลหิต
สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้มีหน้าที่หลักในการจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพสูงสุด จากผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ ทั้งในรูปโลหิต ส่วนประกอบโลหิต และผลิตภัณฑ์โลหิต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการโดยยึดมั่นในนโยบายคุณภาพ คือ บริการประทับใจ โลหิตและผลิตภัณฑ์ มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ
4.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต
สภากาชาดไทยเป็นองค์กรผู้นำด้านอาสาสมัครของประเทศ ด้วยระบบบริหารจัดการอาสาสมัครแบบบูรณาการ เพื่อให้โอกาสอาสาสมัครของสภากาชาดไทยได้ออกปฏิบัติงานที่เป็นการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงพระภิกษุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเพิ่มจำนวนอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ของสภากาชาดไทยเข้าถึงประชาชนและประชาชนได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครอย่างทั่วถึง “อาสาด้วยจิตกุศล บริการเพื่อนมนุษย์”
นายเตช กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ด้อยโอกาสประมาณ 11 ล้านคน ใน 77 จังหวัด ซึ่ง สภากาชาดไทย ไม่ได้เป็นรัฐ เป็นเพียงองค์การกุศลหนึ่งที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน เท่าที่มีขีดความสามารถ และงบประมาณก็มีจำกัด จะต้องพยายามหางบประมาณมาช่วยเท่าที่จะทำได้
- แผนจัดสรรวัคซีน 'โมเดอร์นา' แก่ประชาชน
นายเตช กล่าวต่อว่า สภากาชาดไทยได้รับการประสานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า ได้สำรองวัคซีน'โมเดอร์นา' 1 ล้านโดส ให้แก่สภากาชาดไทย ซึ่งต่อมา สภากาชาดไทยได้มีหนังสือยืนยันการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาภายใต้เงื่อนไขที่ อภ.กำหนด
คาดว่าสภากาชาดไทยจะได้รับวัคซีนโมเดอร์นา ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และต้นปี 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สภากาชาด เจรจาวัคซีน 'โมเดอร์นา' นำเข้า 1 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนฟรี
- ขั้นตอนการจอง 'วัคซีนโมเดอร์นา'
สภากาชาดฯ ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้บริจาคมาที่กองทุนกาชาด เพื่อการจัดซื้อวัคซีน และยาโควิด-19 สำหรับประชาชน ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ที่ต้องการสั่งซื้อเพื่อไปฉีดให้แก่ประชาชนในพื้นที่นั้น ต้องดำเนินการตามเงื่อนไข ดังนี้
- อบจ. ต้องจัดทำแผนการขอรับการจัดสรรวัคซีน โดยระบุจำนวนคนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่
1. คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์
2. ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป
3. บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร
4. ผู้ที่ทำงานในศูนย์เด็กเล็ก ครู รร.อนุบาล ครู/อาจารย์
5. บุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
- อบจ. ที่ประสงค์จองวัคซีนโมเดอร์นา ต้องแจ้งมายังสภากาชาดไทยภายใน 21 ก.ค. พร้อมแผนจัดการวัคซีน
- อบจ. ที่ประสงค์จองวัคซีน ต้องสนับสนุนค่าวัคซีนโดสละ 1,300 บาท
- อบจ. ที่ได้รับจัดสรรวัคซีน ต้องฉีดให้ประชาชนฟรี และห้ามนำไปขายต่อเด็ดขาด
- อบจ. ที่ได้รับจัดสรรวัคซีน ต้องชำระเงินเต็มจำนวนภายใน 23 ก.ค.
อย่างไรก็ตาม คาดว่าสภากาชาดไทย จะทยอยจัดสรรวัคซีนได้ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นไป
- รู้จักวัคซีน 'โมเดอร์นา' ทำไมใครๆ ก็อยากฉีด
วัคซีน โมเดอร์นา (Moderna) ถือเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลำดับที่ 4 ที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน โดยจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ณ วันที่ 13 พ.ค. 2564 และมีอายุจนถึง 12 พ.ค. 2565 (วัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย.ของไทย ตัวที่1-3 ได้แก่ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน)
วัคซีนโมเดอร์นาสามารถ กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง กว่าภูมิต้านทานจากพลาสมาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 3.4 เท่า มีประสิทธิผลการทดสอบเฟส 3 สูงถึง 94.1% เกือบเท่าวัคซีนโนวาแวค และไฟเซอร์ (ไม่ได้ศึกษาในเวลาเดียวกัน)
สำหรับประโยชน์ของการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็มที่ 2 ไปแล้ว ภายหลัง 14 วัน สามารถป้องกันการติดโรคได้ถึง 94.1% ในประชากรทั่วไป และป้องกันการติดเชื้อโรคได้ถึง 86.4% ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ยังลดความรุนแรงของโรคเมื่อติดเชื้อ 100% และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100%
อ้างอิง : สภากาชาดไทย