รู้จัก “ณรงค์ โชควัฒนา” ผู้บริหารเครือสหพัฒน์ และทายาทลำดับที่ 6 “ดร.เทียม โชควัฒนา”
วันที่ 17 ก.ค. 2564 “ณรงค์ โชควัฒนา” ประธานกลุ่มเศรษฐกิจ มูลนิธิ คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม เสียชีวิตในวัย 77 ปี ด้วยโรคโควิด-19
สำหรับประวัติของ “ณรงค์” เกิดเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2486
การศึกษา มัธยมปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก
อุดมศึกษา ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2511
นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปรอ.รุ่น 4 พ.ศ. 2534
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์พ.ศ. 2541
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมการจัดการ) มหาวิทยาลัยรามคําแหง พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ “ณรงค์” เป็นบุตรคนที่ 6 จากทั้งสิ้น 8 คน ของ “ดร.เทียม โชควัฒนา” ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “เครือสหพัฒน์” องค์กรเก่าแก่กว่า 70 ปี แม้ชื่อของ “ณรงค์” อาจไม่ปรากฏบนหน้าสื่อมากนัก ในฐานะ “นักบริหารธุรกิจ” แต่หากดูรายชื่อคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้นบริษัทสำคัญในเครือ จะเห็นชื่อของ 1 ใน 8 ทายาทเครือสหพัฒน์เสมอ เช่น บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตรองเท้าแพน(Pan) ที่ปัจจุบันทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจการเกษตร “ปลูกผักออแกนิก” ป้อนตลาด
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปรัชญาการเคลื่อนธุรกิจของเครือสหพัฒน์ “ดร.เทียม” ผู้เป็นบิดาได้วางรากฐานสำคัญคือการใช้คุณธรรมนำธุรกิจ เน้นความซื่อสัตย์ ยุติธรรม จนสร้างอาณาจักรเติบใหญ่มีมูลค่า “แสนล้านบาท” โดยคำสอนมากมายที่ทิ้งไว้ให้แก่ทายาทไได้นำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการบริหารธุรกิจ เช่น ผู้กล้าหาญ คือผู้ที่สามารถบังคับตัวเองได้ ถ้าลูกจักปลูกต้นไม้ ต้องบำรุงรากแต่ถ้าจะปลูกจิตใจ ต้องบำรุงด้วยศีล ด้วยธรรม, ลืมอะไรก็ลืมได้ แต่อย่าลืมตัว เสียอะไรก็เสียได้ แต่อย่าเสียคน ผิดอะไรก็ผิดได้ แต่อย่าผิดศีลธรรม, การไม่ระวังการใช้จ่าย เล็ก ๆ น้อย ๆ อาจทำให้ล่มจมได้ ดังเช่นเรือมีรูรั่วเล็กๆ อาจทำให้เรือใหญ่จมได้, ลูกสังเกตดูจักรู้ว่า ผู้เป็นคนดี มักอ่อนน้อมถ่อมตน, ผู้ที่รู้จักประมาณตน เป็นคนฉลาด ลูกควรใช้จ่ายตามฐานะ ลูกจักไม่ขัดสนตลอดไป และ ช้า เร็ว หนัก เบา ฯ โดยเฉพาะประโยคหลัง จะได้ยินผู้นำเครือสหพัฒน์ย้ำเสมอถึงการทำธุรกิจ
"บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ทายาทลำดับที่ 3 ของ "ดร.เทียม" รับบทเป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนเครือสหพัฒน์ เพราะสร้างผลงานธุรกิจได้เติบโตอย่างโดดเด่น แต่ยังมีบรรดาพี่น้องที่ร่วมหัวจมท้ายบริหารอาณาจักรสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายคน เช่น บุญชัย-บุญเกียรติ โชควัฒนา จนกลายเป็นภาพ "สามทหารเสือ" แต่กระนั้น ทุกท่านก็ยังเคียงข้างกันทำงานรวมถึง “ณรงค์” ด้วย เพียงแต่บทบาทธุรกิจไม่ได้โดดเด่นเท่านั้นเอง กลับกับมิติการทำงานด้านสังคมถือว่าได้ทำงานจำนวนมาก
สำหรับงานด้านสังคมในปัจจุบัน
- ประธานกลุ่มเศรษฐกิจ มูลนิธิ คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- กรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ประธานกลุ่มสังคมจิตวิทยา มูลนิธิ คลังสมอง วปอ. เพื่อ สังคม พ.ศ. 2555
- ประธานกลุ่มประสานงาน (เฉพาะกิจ) มูลนิธิ คลังสมองวปอ. เพื่อสังคมพ.ศ. 2555 เป็นต้น
ส่วนงานด้านสังคมในอดีต มีมากมาย เช่น
- อ.ก.พ. วิสามัญเกียวกับวินัยและการออกจากราชการ สํานักงาน ก.พ. (30 มิถุนายน 2554-13 ตุลาคม 2557)
- คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยศิลปากร (2552-2553)
3.ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายสุชาติ ธาดาธํารงเวช) พ.ศ.2551
4.คณะอนุกรรมการขับเคลือนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภาคเอกชน สํานักงาน ป.ป.ช. พ.ศ.2551 เป็นต้น