ก.ล.ต.ชี้ ช่องระดมทุน 'crowdfunding-ICO' เอื้อผู้ประกอบการ-นักลงทุน
ก.ล.ต.ชี้ ช่องทางระดมทุนดิจิทัล "crowdfunding- Real Estate-backed ICO" หนุนธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน- เพิ่มโอกาสลงทุน "SCB10X"รุกลงทุนสตาร์ทอัพต่อยอดธุรกิจบริษัทแม่ "นายกสมาคมดิจิทัล"แนะทำMoney Managementก่อนลงทุน"โจลูกอีสาน"หนุนกระจายพอร์ตไปต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนา SEC capital market regional seminar 2021 ในหัวข้อ ตลาดทุนรูปแบบใหม่เพื่อโอกาสสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนา SEC capital market regional seminar 2021 ในหัวข้อ ตลาดทุนรูปแบบใหม่เพื่อโอกาสสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน โดยนางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายระดมทุน ก.ล.ต., นางมุขยา พานิช Chief Venture and Investment Officer บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) นายอนุรักษ์ บุญแสวง หรือโจลูกอีสาน นักลงทุน และ นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ร่วมให้ข้อมูล
นางสาวจอมขวัญ กล่าวว่า การระดมทุนในปัจจุบันมีหลากหลายช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถระดมทุนได้ ซึ่งการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ประกอบการและนักลงทุนปัจจุบันที่เน้นทางด้านออนไลน์ ดิจิทัล ซึ่งการระดมทุนที่จะแนะนำในครั้งนี้ คือ คราวด์ฟันดิง (crowdfunding) และReal Estate-backed ICO หรือ โทเทนดิจิทัลที่มีอสังหาริมทรัพย์หรือกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์อ้างอิง การระดมทุนทั้ง2 ส่วนนั้น เป็นการระดมทุนที่มีกฎเกณฑ์ มีต้นทุนที่น้อยกว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) แต่สามารถระดมทุนได้ในวงกว้างและรวดเร็ว
ทั้งนี้ crowdfunding เป็นช่องทางการระดมทุนของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในSETและmai (non-listed) โดยผู้ต้องการระดมทุนต้องติดต่อกับCrowdfunding Portal ซึ่งปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตจากก.ล.ต.โดยปัจจุบันมีจำนวน 7 ราย โดยที่ผ่านมาถือว่าการระดมทุนผ่าน Crowdfundingประสบความเสร็จอย่างดี โดยตั้งแต่ปี2562 มีการระดมทุนแล้วประมาณ400 ล้านบาท จากบริษัทกว่า 60 แห่ง โดยบริษัทเข้ามาระดมทุนมีหลากหลายธุรกิจ เช่น บริษัทขายสเต็ก ,บริษัทขายน้ำจิ้มซีฟู้ด ,บริษัทขายน้ำจิ้มสุกี้ สินค้าอุตสาหกรรม ฯลฯ
อย่างไรก็ตามแม้กฎเกณฑ์การระดมทุนนั้นจะมีความเข้มงวดน้อยกว่าบริษัที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็จะมีทาง Crowdfunding Portal ทำหน้าหนี้ในการเปิดเผยข้อมูลกิจการที่เข้ามาลงทุน ดังนั้นนักลงทุนจะต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบก่อนตัดสินใจลงทุน ขณะที่ก.ล.ต.จะมีการจำกัดความเสี่ยงของผู้ลงทุน โดยจะต้องลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาท
ส่วนการระดมทุน Real Estate-backed ICO นั้นเหมาะกับทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ non-listed ซึ่งผู้ที่ต้องการระดมทุนจะต้องติดต่อกับ ICO Portal ที่ปัจจุบันได้รับอนุญาตจากก.ล.ต.จำนวน 4ราย ซึ่งการะดมทุนผ่านICO สามารถนำโปรเจ็กส์ที่น่าสนใจมาbacked ได้ ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนใน ICO นั้นสามารถเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงินได้ เช่น สิทธิในการรับประทานอาหารฟรีในร้านของกิจการที่มีการออกไอซีโอ
ดังนั้นการระดมทุนผ่านทั้ง Crowdfunding และ ICO ผู้ประกอบกิจการสามารถเลือกระดมทุนในช่องทางที่เหมาะกับแต่ละบริษัท แต่ฝั่งนักลงทุนก็จะต้องศึกษาข้อมูล และสามารถรับความเสี่ยงการลงทุนได้ เพราะหากเกิดความเสียหายการลงทุนจะได้ไม่เดือนร้อน และควรที่จะมีการกระจายการลงทุน
สำหรับการลงทุนในดิจิทัลแอสเสท ในประเทศไทยปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนจำนวนมากซึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ลงทุนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ1 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มี2.6 แสนคน และ ปี 2561 ที่มีจำนวน 1.4 แสนคน ซึ่งถือว่าจำนวนผู้ลงทุนเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับผู้ลงทุนในตลาดหุ้นทั้งนี้ผู้ลงทุนที่เข้ามาลงทุนในดิจิทัลแอสเสทจะต้องมีการศึกษาข้อมูล ให้มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน เพราะเป็นการลงทุนใหม่ ซึ่งความเสี่ยงสูงสุดของนักลงทุน คือการไม่มีความรู้ในสินทรัพย์ที่ตนเองเข้าไปลงทุน
รวมถึงจะต้องเป็นผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง ซึ่งเงินที่จะนำมาลงทุนนั้นจะต้องเป็นเงินเย็น ไม่ควรที่จะนำเงินกู้มาลงทุน เพราะ เป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง อาจทำให้รับความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามจากที่โลก และการลงทุนที่เปลี่ยนไป ก.ล.ต.จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนให้ทันกับวิวัฒนาการการลงทุน เพื่อสนับสนุนบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุน และเพื่อคุ้มครองนักลงทุนในระดับที่เหมาะสม
SCB 10Xลุยลงทุนสตาร์ทอัพต่อยอดธุรกิจกับบริษัทแม่"แบงก์ไทยพาณิชย์"
นางมุขยา กล่าวว่า การลงทุนใหม่ๆที่คนให้ความสนใจในช่วงนี้จะเกี่ยวกับธุรกิจด้านนิวนอร์มอล เช่น ดิจิทัลเพย์เมนท์ ดิจิทัลแอสเสท ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ blockchain Decentralize Finance (DeFi) คือระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง โซเชียลคอมเมิร์ท อีคอมเมิร์ซ
ทั้งนี้ทางSCB 10X ที่ให้ความสนใจที่จะเข้าลงทุน คือ ดิจิทัลแอสเสท และ DeFi ฯลฯที่จะเข้ามา ดิสรัปธุรกิจไฟแนนซ์ในปัจจุบัน เพราะเรามีบริษัทแม่เป็นธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะมองหาการลงทุนในสตาร์ทอัพ ที่สามารถมาต่อยอดกับธุรกิจของบริษัทแม่ได้
กระจายลงทุนไปต่างประเทศ
นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยมีความจำเป็นที่จะต้องกระจายการลงทุนไปตลาดหุ้นต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะ หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นโลกเก่า ยังไม่มีหุ้นทางด้านเทคโนโลยี หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับนิวนอร์มอลขนาดใหญ่ เหมือนกับต่างประเทศ และจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีไม่มาก เพียง700 บริษัท ซึ่งตลาดหุ้นจีน ตลาดหุ้นสหรัฐฯลฯมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนจำนวนมาก
รวมถึงด้วยเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตช้า จากที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทำให้มีเงินมาไม่มากที่จะมาใช้จ่ายเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโต
อย่างไรก็ตามการลงทุนในตลาดหุ้นไทยถือว่าลงทุนได้ เพราะที่ผ่านมายังมีให้เห็นที่หลายบริษัทราคาหุ้นก็สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 100% แต่ต้องเลือกหุ้นที่จะเข้าลงทุน
สิ่งสำคัญการลงทุนMoney Management
นายศุภกฤษฎ์ กล่าวว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งบิทคอยน์ อีเธอเรียม ICO STO ซึ่งความเสี่ยงที่สุดของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ คือความไม่เข้าใจในธุรกิจหรือในสินทรัพย์ที่เข้าลงทุน
ดังนั้น นักลงทุนต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจ และโอกาสการลงทุนนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ ดังนั้นนอกจากจะต้องมีความเข้าใจแล้ว นักลงทุนจะต้องมีทำ Money Management เป็นเรื่องบริหารจัดการใจตัวเอง เงินตัวเอง
สิ่งแรกก่อนที่จะเข้าลงทุนอะไร จะต้องหาตัวเองให้เจอว่าอยากเป็นอะไร เป้าหมายการลงทุนคืออะไร โดยเริ่มแบ่งเงินลงทุนลงทุนเท่าที่เรารับความเสี่ยงได้ก่อนลองดูว่าโอกาสใหญ่พอที่จะโดดเข้าไปลงทุนหรือไม่
"ในเรื่องการระดมทุนนั้นเปลี่ยนไป ซึ่งนักลงทุนจะต้องตระหนักให้เห็นถึงความเสี่ยงที่คู่กับโอกาส และสิ่งสำคัญคือMoney Management อย่าเห็นแต่ผลอตบแทนจนเราไม่ได้มองถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตกับเรา "