5 เหตุผลเบื้องหลัง พญามังกร ฟื้นตัวจาก โควิด ดีที่สุดในโลก
เมื่อไม่นานมานี้ Nikkei สำนักข่าวชื่อดังของญี่ปุ่น จัดอันดับการฟื้นตัวจาก "โควิด" โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการแพร่ระบาด การฉีดวัคซีน และการเดินทางของคนในประเทศซึ่งรวมถึงความเข้มงวดในการควบคุมการเดินทาง โดยประเทศจีน เป็นประเทศที่ได้รับคะแนนสูงที่สุด
ในขณะเดียวกันที่ Nikkei จัดให้ประเทศจีน เป็นประเทศที่ได้รับคะแนนการฟื้นตัวจาก “โควิด” สูงที่สุดนั้น ประเทศไทยก็ถูกจัดอันดับให้รั้งอยู่ที่ 118 จาก 120 อันดับ
การฟื้นตัวของจีนหลังสถานการณ์โควิด ถือว่าค่อนข้างไวมาก ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่ผ่านมา หรือราว 2 เดือน หลังจีนยกเลิก Lockdown เมืองอู่ฮั่น (เมืองที่ถือว่าได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด) จีนก็เริ่มมาตรการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว แม้เจอการแพร่ระบาดในพื้นที่จีนอยู่เป็นระลอก จนถึง ณ ขณะนี้ก็ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ เช่น ปลายเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ระบาดที่มณฑลกว่างตง และตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบาดที่มณฑลหยุนหนาน
จากการรายงานของ BBC เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของ 2564 เติบโต 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาดหนักในจีนจนต้อง Lockdown ทั่วประเทศ
จากที่อ้ายจงเล่ามาข้างต้น คงเห็นแล้วว่าจีนฟื้นตัวแล้วจริงๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ อ้ายจงเลยขอพาทุกคนไปดูกันว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นฟูได้ไว สวนกระแสโลก
1. การเติบโตของเทคโนโลยี และเข้าสู่ยุคแห่งดิจิทัล (Digitization)
เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเป็นประเทศที่โอบกอดคำว่า ดิจิทัล เข้ามาสู่ประเทศในทุกมิติ มาตั้งแต่ก่อนโควิด และเสมือนเป็นการพลิกวิกฤตสู่โอกาส “โควิด กระตุ้นให้การเติบโตของเทคโนโลยีในจีน พุ่งสูงกว่าเดิม” ทุกภาคส่วนยินดีเต็มใจต้อนรับ Digital Transformation เกิดขึ้นกับพวกเขา
ตัวอย่างเช่น ตลาด Luxury การบริโภคสินค้าหรูในจีนช่วงโควิด ปี 2563 สร้างเม็ดเงิน 1.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลจาก McKinsey เติบโตจากปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนหน้าร้านสินค้าแบรนด์เนมไปสู่บนโลกออนไลน์ และใช้ Livestreaming เป็นช่องทางการขายสำคัญ โดยสามารถกล่าวได้ว่า ช่วงระบาดหนักของโควิด มีตลาดจีนเพียงแห่งเดียวในโลก ที่ยังคงสร้างรายได้ให้กับสินค้าแบรนด์เนม ขณะที่ทั่วทั้งโลก ยิ่งในโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตลาดหรูซบเซา ด้วยผลกระทบจากโควิด
2. “ชาตินิยม” และการพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น ผลกระทบจากทั่วโลกจึงไม่ส่งผลต่อจีนเท่าใดนัก
หลายประเทศ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบและฟื้นตัวได้ช้ากว่าจีน ส่วนหนึ่งมาจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ อย่างประเทศที่รายได้มาจากการท่องเที่ยวและส่งออกสินค้าเป็นหลัก เช่น ประเทศไทย
แต่สำหรับจีน ได้ดำเนินนโยบาย “สนับสนุน Local brand กระตุ้นการผลิตสินค้าและเทคโนโลยีด้วยบริษัทจีนเอง” ดำเนินนโยบาย Made in China 2025 และปลุกกระแสชาตินิยมทางการบริโภคสินค้า “Consumer Nationalism” มาเป็นเวลาหลายปี เราจึงได้เห็นตัวเลขความพึงพอใจของผู้บริโภคจีนที่มีต่อสินค้าแบรนด์จีนเพิ่มขึ้นในแทบทุกประเภทสินค้า รวมถึง สินค้าประเภทแฟชั่นและกระเป๋า ที่แต่เดิมคนจีนพึงพอใจแบรนด์เนมจากต่างประเทศมากกว่า ตามการสำรวจของสื่อกระบอกเสียงทางการจีน Global Times เดือนมีนาคมปีนี้
3. บริษัทจีนมีความสามารถในการแข่งขันและก้าวสู่ระดับโลกเพิ่มขึ้น
จากปัจจัยการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการปรับตัว Digital Transformation อย่างเต็มใจและรวดเร็วขององค์กรจีน รวมถึงการพัฒนาของแบรนด์จีน ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของบริษัทจีนจึงสูงขึ้นไปด้วย
แบรนด์จีนในสายเทคโนโลยี อาทิ TikTok และ Huawei เป็นหัวหอกสำคัญนำพาธุรกิจจีนไปลุยตลาดโลก และรุดหน้าอย่างไม่หยุดท่ามกลางสถานการณ์โควิด แม้แต่ในตลาดอเมริกา คู่แข่งสำคัญของจีน TikTok ครองใจเด็กอเมริกัน มีอัตราการใช้งานบน TikTok โดยเฉลี่ย 95 นาทีต่อวัน ตามหลัง YouTube เพียง 2 นาที
4. รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายฟื้นฟูโควิดอย่างทันท่วงที
เป็นที่รู้กันดีว่า จีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้จ่ายทางการทหารค่อนข้างสูง และมีการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร-กระทรวงกลาโหม ขึ้นทุกปี แต่เมื่อสถานการณ์โควิดเกิดขึ้นในจีน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจจีน ทำให้งบกลาโหมจีนในปี 2563 ปรับลด “อัตราการเติบโต” อยู่ที่ 6.6% (แต่ยังอยู่ในระดับล้านล้านหยวน) ถือว่าเป็นงบกลาโหม “เติบโตน้อยที่สุดในรอบ 30 ปี” และต่อเนื่องมาถึงงบกลาโหมปีนี้ 2564 เพิ่มขึ้นมาที่ระดับการเติบโต 6.8% แต่ก็ยังคงเป็นงบประมาณกลาโหมที่มีอัตราเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด
อัตราการเติบโตงบประมาณกลาโหมจีนก่อนโควิด ระหว่างปี 2558 – 2562 เป็นไปดังนี้
2562 อัตราการเติบโตงบกลาโหมอยู่ที่ 7.5%
2561 เติบโต 8.1%
2560 เติบโต 7.0%
2559 เติบโต 7.6%
2558 เติบโต 10.1% เป็นปีสุดท้ายที่แตะระดับเลขสองหลัก ก่อนที่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป งบกลาโหมจีนเติบโตด้วยตัวเลขหลักเดียว)
งบกลาโหมที่ปรับลดลงไปโดยส่วนใหญ่ จีนนำไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน และใช้จ่ายสาธารณสุข ฟื้นฟูจากโควิด โดยงบสาธารณสุขเติบโต 12.6% เมื่อปี 2563 คิดเป็นงบประมาณ 9.27 แสนล้านหยวน เพื่อใช้กับการควบคุม ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยโควิด
ช่วงแรกเริ่มของการระบาด มีตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับผู้ป่วยโควิด ที่ทางการจีนจัดสรรงบอยู่ที่ 17,000 หยวน โดย 65% ของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโควิดแต่ละคนตามที่ระบุเลขตามนี้ 65% มาจากงบกลาง และที่เหลือ 35% มาจากรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละมณฑล-เมือง
5.ทางการจีนทุ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ - แก้ปัญหาว่างงาน - ช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ทันทีที่โควิดไปเยือน จีน นอกจากผลกระทบทางด้านสาธารณสุข ยังส่งผลโดยตรงต่ออัตราการว่างงาน กล่าวคือ มีหลายกิจการได้รับผลกระทบ คนเคยมีงานทำต้องแปรเปลี่ยนเป็นคนตกงาน ส่วนบัณฑิตจบใหม่ ก็เข้าสู่สภาวะหางานยากและแนวโน้มสูงที่ไม่มีงานด้วยซ้ำ ในขณะที่โควิดระบาดหนัก โดยตัวเลขว่างงานในจีนขณะนั้นพุ่งไปที่ 27 ล้านคน ในพื้นที่เขตเมือง ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ แก้ปัญหาว่างงานให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
จีนทุ่มเม็ดเงิน 2.8 ล้านล้านหยวน จากส่วนกลางไปยังรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ ในเม็ดเงินจำนวนนี้ สัดส่วนไม่น้อยถูกนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในลักษณะของการให้เงินอุดหนุน พักชำระหนี้กู้ยืมธนาคาร และยกเว้นภาษีธุรกิจ
จีนไม่ได้แค่อุ้ม SMEs แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมทั่วจีน ยังได้รับการช่วยเหลือด้วย เพราะบาดแผลจากโควิดก็เหวอะหวะไม่น้อย เผลอๆ อาจแผลฉกรรจ์กว่า SMEs เสียอีก
เมื่อผู้ประกอบการได้รับการเยียวยาและพยุงให้เดินไปต่อได้ การจ้างงานจึงกลับมาอีกครั้ง และนอกจากนี้ การจัดสรรเงินในการสร้างตำแหน่งงานใหม่ในตลาดแรงงาน สร้างจำนวนตำแหน่งงานในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นในปี 2563 ประมาณ 9 ล้านตำแหน่ง น้อยกว่า ปี 2562 ราว 4ล้าน แต่ก็เป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลในช่วงเวลาวิกฤติหนักเช่นนั้น
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมาตรการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ สีจิ้นผิง ไม่ลังเลที่จะทำ เพราะหากไม่ทำ จีนคงไปต่อได้ยาก เรือลำใหญ่ซึ่งเรียกว่าประเทศ ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยคนเพียงกลุ่มเดียว