ก่อนเดินทางเข้า-ออก 13 จ. 'พื้นที่สีแดงเข้ม' ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง?
ศบค.เผยก่อนเข้า-ออกนอกพื้นที่ 13 จังหวัด 'พื้นที่สีแดงเข้ม' ชุดตรวจเข้มแข็ง ฝ่ายมั่นคง จะตรวจหลักฐาน 3 อย่างนี้ พร้อมย้ำ 6กลุ่มคนที่ยกเว้นได้
วันนี้ (19 ก.ค.2564 ) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดที่ได้มีการประกาศใช้ ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ใหม่ โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิมมี 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด
ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
ซึ่งในจังหวัดที่เพิ่มมาก 3 จังหวัด คือ ชลบุรีฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา ต้องดำเนินการตามมาตรการล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน
ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด จาก 24 จังหวัด เป็น 53 จังหวัด พื้นที่ควบคุม จาก25 จังหวัดเป็น10 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังจาก18 จังหวัด เป็น 1 จังหวัด และตอนนี้ไม่มีพื้นที่สีเขียว
"จะเห็นว่าขณะนี้ได้มีการระบาดครอบคลุมไปทั่วประเทศ และมีมาตรการควบคุมเข้มงวดทุกจังหวัด โดเฉพาะใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่มีอัตราการติดเชื้อรายวันค่อนข้างสูง ดังนั้น ที่ประชุมได้ขอให้งดภารกิจที่จะเดินทางออกนอกเคหะสถาน หรือออกจากพื้นที่พำนักโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นตามช่วงเวลาที่กำหนด และในเวลากลางวันขอให้งดภารกิจการเดินทางออกนอกพื้นที่ ยกเว้นกลุ่มคน หรือกิจการที่กำหนด" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
- เช็คหลักฐาน ก่อนเข้า-ออก'พื้นที่สีแดงเข้ม'
ทั้งนี้ ล่าสุด ทางฝ่ายมั่นคงได้มีการหารือและสรุปมาตรการในการงดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยจะมีการตั้งด่านในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม ถ้าจะออกข้างนอกจะไม่ได้รับความสะดวกมากมายอย่างที่ผ่านมา ซึ่งทางฝ่ายมั่นคงจะมีชุดตรวจที่เรียกว่าชุดตรวจเข้มแข็ง กระจายไปในส่วนของพื้นที่ จะมีด่านตรวจ ทั้งเข้าและออก
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ทางที่ประชุมได้แจ้งว่า การจะเดินทางข้ามจังหวัด หรือออกนอกพื้นที่สีแดงเข้ม หรือผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่สีแดงเข้ม จะมีแนวทางเข้มข้นขึ้น 3 แนวทาง หรือ ด่านจะมีการตรวจ 3 อย่าง คือ
1. ต้องมีการแสดงหลักฐานจากการอนุญาตต่อเจ้าพนักงานในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
2.ต้องผ่านแอปพลิเคชั่น ไทยชนะยืนยันที่ด่านตรวจ
3.ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ covid-19.in.th แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ต้องขอเรียกประชาชนว่าความไม่สะดวกสบายที่จะเกิดขึ้น เป็นการดำเนินการเพื่อลดการเดินทาง ถ้าไม่จำเป็นขอให้อยู่ในเคหะสถานเท่านั้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ฝ่ายมั่นคงจะทำงานอย่างเข้มขึ้น
ส่วนบุคคลที่ได้รับการยกเว้น คือ
1.บุคลากรเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข
2.การขนส่งยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้า อุปโภคบริโภค ขนส่งสินค้าการเกษตร น้ำมัน เชื้อเพลิง ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ สินค้าเพื่อการส่งออกและนำเข้า
3.การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน
4.การให้การอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน
5.การประกอบอาชีพที่จำเป็น
6.กรณีจำเป็นอื่นๆ ที่ได้รับการอนุญาตเฉพาะราย
ฉะนั้น ในช่วงเวลาระหว่างวัน ในพื้นที่ทั้งหมด13 จังหวัดนี้จะมีความยุ่งยากในการเดินทาง และคนที่อยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัดนี้จะออกไปข้างนอกจะยากขึ้น ส่วนคนที่อยู่ข้างนอก 13 จังหวัดจะเข้ามาก็ยากเช่นเดียวกัน ภายใน 14 วันนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน
- ยอดผู้ป่วยรักษาในรพ.กว่า 1.2 แสนราย
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ประจำวันที่ 19 ก.ค.2564 นี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,784 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 11,684 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 100 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ขณะนี้มี ผู้ป่วยสะสม 386,307 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) หายป่วยกลับบ้าน 5,741 รายหายป่วยสะสม 262,225 ราย(ตั้งแต่ 1 เมษายน) และเสียชีวิตเพิ่ม 81 ราย
ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาล จำนวน 122,097 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 71,635ราย และในรพ.สนาม50,462 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 3,595 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 856 ราย
สำหรับยอดผู้ได้รับ วัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 18 ก.ค.2564 รวม 14,298,596โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน10,850,099 คน เข็มที่ 2 จำนวน 3,448,497 คน
- พบผู้ฉีด 'แอสตราเซนเนก้า'1 เข็ม ติดโควิดเสียชิวิต
ทั้งนี้ สำหรับผู้เสียชีวิต 81 ราย มีรายละเอียดดังนี้ กทม.26 ราย ปทุมธานี 9 ราย ปัตตานี 5 ราย เพชรบุรี นครราชสีมาจังหวัดละ 4 ราย ร้อยเอ็ม ศรีสะเกษ จังหวัดละ 3 ราย นราธิวาส สุพรรณ ฉะเชิงเทรา ระนอง ระยอง อุดรธานีนครสวรรค์ จังหวัดละ 2 ราย สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ปราจีนบุรี อ่างทอง บุรีรัมย์ ยโสธรแพร่ กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย จังหวัดละ 1 ราย
ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคปอด โรคอ้วน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และไม่มีโรคประจำตัว ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 ได้แก่ อาศัย/ไปพื้นที่ระบาด คนอื่นๆ คนในครอบครัว เข้าไปในสถานที่แออัดพลุกพล่าน อาชีพเสี่ยง
สำหรับค่ากลางระยะเวลาวันที่ทราบผลติดเชื้อจนถึงเสียชีวิต พบว่า เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย จ.เพชรบุรี (ตรวจพบเชื้อหลังเสียชีวิต) ไม่เกิน 6 วัน 30 ราย (37 %) ตั้งแต่ 7-14 วัน 30ราย (37%) มากกว่า 14 วัน 21 ราย (26%)
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต มีผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนก้า 1 เข็ม จำนวน 7 ราย และไม่ระบุชนิด 1 เข็ม 1 ราย
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ วันที่ 19 ก.ค.2564 ใน 10 จังหวัดอันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 2,134 ราย สมุทรสาคร 765 ราย ชลบุรี 615 ราย สระบุรี 494 ราย ปทุมธานี 485 ราย พระนครศรีอยุธยา 484 ราย สมุทรปราการ 483 รายนนทบุรี 381 ราย ปัตตานี 296 ราย และตาก 267 ราย