‘เยียวยาประกันสังคม’ จ่ายชดเชยรายได้ 50% ให้ ม.33 ไม่ได้ทุกคน ต้องรู้เงื่อนไข
กรณีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐ ในการควบคุมการระบาด "โควิด-19" นอกจากเงินเยียวยา 2,500 บาทจากรัฐแล้ว "ประกันสังคม" ก็จะจ่ายชดเชยรายได้ 50% ให้แก่ผู้ประกันตน ม.33 ด้วย แต่มีเงื่อนไขหลายข้อ เช็คก่อน! อาจไม่ได้เงินทุกคน
วันนี้ (19 ก.ค. 64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม ออกมาเปิดเผยผ่านทางช่อง NBT ระบุถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และการทำความเข้าใจกรณี "เงินเยียวยา" ให้ถูกต้อง ซึ่งจะนำมาเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19"
โดยเฉพาะกรณีของผู้ประกันตน ม.33 โฆษกประกันสังคมกล่าวว่า จะได้รับเงินเยียวยา 2 รูปแบบ คือ 1)เงินเยียวยาที่มาจากรัฐบาล 2)เงินชดเชยรายได้ 50% ที่มาจากประกันสังคม
"ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับ "เงินเยียวยา" แบ่งเป็น 2 รูปแบบ โดยแบบแรกคือท่านจะได้รับการเยียวยาจากรัฐ คือ เงินเยียวยา 2,500 บาท ซึ่งตรงนี้เป็นเงินจากรัฐบาล ไม่ใช่เงินจากประกันสังคม โดยลูกจ้างสามารถเข้าไปเช็คสิทธิได้ที่ www.sso.go.th คลิกไปที่ ตรวจสอบสิทธิฯ ผู้ประกันตน ม.33 แล้วกรอกเลขบัตรประชาชนลงไป ก็สามารถเช็คได้เลย" นายนันทชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รับสิทธิเยียวยา ‘ประกันสังคม’ ผ่านระบบ 'SSO e-Service' หรือ www.sso.go.th ต้องทำยังไง
- www.sso.go.th 'ประกันสังคม' มาตรา 40 รับ 'เงินเยียวยา' เมื่อไร?
- เช็คคืบหน้า! 'เงินเยียวยาประกันสังคม' มาตรา 40 กรณีสมัครใหม่-คนเก่าขาดส่งเงินสมทบ
- สมัคร 'ประกันสังคม ม.40' ได้สิทธิอะไรบ้าง จะเสียสิทธิ 'บัตรทอง' ไหม?
นอกจากนี้ ยังมีข้อควรรู้สำหรับลูกจ้าง หรือผู้ประกันตน ม.33 ที่ต้องรู้เกี่ยวกับการรับเงินเยียวยาทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งจากรัฐบาล และจากประกันสังคม ดังนี้
1. เงินเยียวยา 2,500 บาท รับผ่านบัญชีพร้อมเพย์
สำหรับเงินเยียวยาพิเศษจากรัฐบาล จำนวน 2,500 บาทนั้น ทางสำนักงานประกันสังคมมีฐานข้อมูลของผู้ประกันตน มาตรา 33 อยู่แล้ว จึงนำข้อมูลมาทำเป็นระบบตรวจสอบสิทธิให้ ซึ่งวันนี้ท่านสามารถตรวจสอบได้แล้ว เพียงแค่คีย์หมายเลขบัตรประชาชนเข้าไป ก็ตรวจสอบได้เลย
ส่วนช่องทางการรับเงินก้อนนี้ ลูกจ้างที่เช็คสิทธิแล้วพบว่า "ได้รับสิทธิ" ขั้นตอนต่อไปให้ไปทำบัญชีพร้อมเพย์ โดยผูกกับเลขบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งหากใครที่มีพร้อมเพย์อยู่แล้ว แต่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์เอาไว้ ก็สามารถไปที่ธนาคารที่ใช้บริการอยู่ เพื่อแจ้งแก้ไขการผูกบัญชีให้ใหม่ได้
2. เงื่อนไขการรับเงินเยียวยา 2,500 บาท
สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่จะได้เงินเยียวยา 2,500 บาทนี้ มีเงื่อนไข คือ จะต้องเป็นลูกจ้างสัญชาติไทยเท่านั้น! และ ต้องอยู่ใน 10 จังหวัด 9 หมวดกิจการ/อาชีพที่ได้รับผลกระทบ
เมื่อระบบของประกันสังคมตรวจสอบแล้ว พบว่าท่านเป็นผู้มีสิทธิได้เงินเยียวยาส่วนนี้ เงินจะถูกโอนไปให้ผ่านพร้อมเพย์ได้เลย ไม่ต้องทำขั้นตอนใดๆ อีก
3. เช็คสิทธิได้ตลอดเดือน ก.ค.2564
ทั้งนี้ มีบางกรณีที่ลูกจ้างมั่นใจว่าตนเองอยู่ในกลุ่ม 9 อาชีพแน่ๆ แต่เมื่อเช็คแล้วกลับพบว่า "ไม่ได้รับสิทธิ" กรณีนี้ นายนันทชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางประกันสังคมอยู่ระหว่างการปรับเพิ่มหมวดอาชีพเข้ามาในระบบ อาจต้องใช้เวลาสักระยะ
ดังนั้นหลังจากการประชุม ครม. พรุ่งนี้ (20 ก.ค.) ให้ท่านเข้าไปเช็คสิทธิใหม่ได้อีกครั้ง และสามารถเช็คสิทธิได้ตลอดเดือน ก.ค.2564
4. เงินชดเชยจาก "ประกันสังคม" 50% คืออะไร?
ต่อมาในส่วนของ "เงินชดเชย" หรือ "เงินทดแทนการขาดรายได้" ลูกจ้างจะได้รับเมื่อเกิดการว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ซึ่งในที่นี้ก็คือ กิจการที่รัฐสั่งให้ปิด (ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการควบคุมการระบาดโควิด-19) ลูกจ้างที่เข้าข่ายนี้ ก็จะได้สิทธินี้จาก "ประกันสังคม" โดยตรง
โดยได้รับเงินชดเชย 50% ของฐานค่าจ้างที่นำส่งประกันสังคม แต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยผู้ประกันตน ม.33 บางส่วนก็จะได้เงินชดเชยตรงนี้ด้วย ที่บอกว่าบางส่วนก็เพราะมีเงื่อนไขที่ต้องนำมาพิจารณาคัดกรอง ดังนี้
- เป็นผู้ประกันตน ม.33 ที่มีสัญชาติไทย และอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ใน 10 จังหวัด* 9 กลุ่มอาชีพ
- ผู้ประกันตน ม.33 ที่จะได้สิทธินี้ จะต้องถูกเลิกจ้างในกรณีที่กิจการนั้นๆ ถูกรัฐสั่งให้ปิด! ก็คือไปทำงานไม่ได้ ก็จะได้รับเงินชดเชย 50% ของฐานเงินเดือนที่นำส่งประกันสังคม แต่ไม่เกิน 7,500 บาทต่อคน
- ต้องส่งเงินประกันสังคมอย่างน้อย 6 เดือน ภายใน 15 เดือนนับย้อนหลังไป อันนี้เป็นเงื่อนไขของการเกิดสิทธินี้ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเช็คดูได้
- สิทธินี้ให้เฉพาะลูกจ้าง ม.33 ที่ถูกหยุดจ้างงาน ก็คือไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง
- แต่ถ้านายจ้างไม่ได้หยุดจ้าง ท่านก็จะไม่ได้เงินชดเชยตรงนี้ แต่ยังคงได้เงิน 2,500 บาทจากรัฐบาลที่จัดสรรมาช่วยเหลือเพิ่มเติมที่เรียกว่า "เงินเยียวยา"
*หมายเหตุ : กรณีที่จะพิจารณาให้อีก 3 จังหวัด* ปรับโซนเป็นพื้นที่สีแดงเข้มเพิ่มเติม (ชลบุรี/ฉะเชิงเทรา/อยุธยา) ตรงนี้ต้องนำเข้า ครม. (20 ก.ค.64) และรอให้อนุมัติเห็นชอบเสียก่อน กลุ่มลูกจ้าง ม.33 ใน 3 จังหวัดดังกล่าวจึงจะได้สิทธิเหล่านี้
5. เงินชดเชย 50% จากประกันสังคม จะได้รับช่องทางไหน?
มาดูในส่วนของการโอนจ่ายเงินชดเชย 50% จากประกันสังคม ลักษณะการดำเนินการคือ ประกันสังคมจะขอให้นายจ้าง (บริษัท/ห้างร้าน/ผู้ประกอบการ) ซึ่งเป็นกิจการที่ถูกรัฐสั่งให้ปิดเท่านั้น ให้ทำการรวบรวมแบบฟอร์มข้อมูลของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเอาไว้
โดยให้ระบุว่ามีลูกจ้างจำนวนกี่คน ชื่อลูกจ้างแต่ละคน และเลขบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนด้วย (ทางประกันสังคมเราจะเปิดหน้าเว็บสำหรับทำแบบฟอร์มไว้ให้) ส่วนนี้ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน ม.33) ไม่ต้องดำเนินการเอง เป็นหน้าที่ของนายจ้างเป็นคนดำเนินการให้ตามกฎหมาย โดยเงินจะถูกโอนให้ผ่านบัญชีเงินเดือนของลูกจ้าง
ส่วนตัวลูกจ้างเองมีหน้าที่แค่กรอกแบบฟอร์มไปส่งนายจ้าง เพื่อให้นายจ้างรวบรวมแล้วส่งอีเมลมาที่ประกันสังคมเอง ลูกจ้างไม่ต้องมาที่สำนักงานประกันสังคมด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ ขอย้ำเรื่อง 9 กลุ่มอาชีพ หรือประเภทกิจการที่เข้าเกณฑ์จะได้รับ "เงินเยียวยา" ชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
- กลุ่มอาชีพก่อสร้าง
- กลุ่มกิจการที่พักแรม และบริการด้านอาหาร/ร้านอาหาร
- กลุ่มศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ
- กลุ่มกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ
- กลุ่มอาชีพขายส่ง ขายปลีก และซ่อมยานยนต์
- กลุ่มขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
- กลุ่มกิจกรรมการบริหาร และบริการสนับสนุน
- กลุ่มกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ
- กลุ่มอาชีพข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
--------------------------
ที่มา : โฆษกสำนักงานประกันสังคม (19 ก.ค.64), ครม. (13 ก.ค.64)