เปิดวิธีซัก"ผ้าติดเชื้อ'ให้ถูก ป้องกันโควิด-19 ระบาด

เปิดวิธีซัก"ผ้าติดเชื้อ'ให้ถูก ป้องกันโควิด-19 ระบาด

วิกฤติ 'โควิด-19 ทำให้เกิดสภาวะผู้ป่วยติดเชื้อล้น รพ. 'มูลฝอยติดเชื้อ' เพิ่มจำนวนสูงขึ้น ทั้งใน รพ. บ้านเรือน รวมถึง 'ผ้าติดเชื้อ' ยังเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่ควรจะมีการป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายสู่บุคลกากรและคนอื่น ๆ

ข้อมูลจาก กรมอนามัย ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มี 'มูลฝอยติดเชื้อ' ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย.64 รวมทั้งหมด 31,709.84 ตัน เฉพาะในเดือน มิ.ย. เพียงเดือนเดียวพบปริมาณ มูลฝอยติดเชื้อสูง ที่สุดเฉลี่ย 210 ตันต่อวัน ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือน ม.ค. - มิ.ย.64 มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 11,393 ตัน หรือเฉลี่ย 63 ตัน/วัน แบ่งเป็น มูลฝอยติดเชื้อ ทั่วไปที่เก็บขนและกำจัดจากสถานบริการด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิก ปริมาณทั้งสิ้น 8,299 ตัน หรือเฉลี่ย 46 ตัน/วัน

และมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) หน่วยบริการตรวจเชิงรุก ศูนย์บริการฉีดวัคซีน และสถานที่สำหรับผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่าง ๆ เช่น หอพัก อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัย ปริมาณทั้งสิ้น 3,094 ตัน หรือเฉลี่ย 17 ตัน/วัน

162678084038

  • โรงซักผ้าปลอดเชื้อ 

เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ความสะอาดของผ้าที่ใช้ในโรงพยาบาล จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ จึงต้องผ่านการซักปลอดเชื้อที่ได้มาตรฐาน ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ เพื่อป้องกันชีวิตแพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้า และผู้ป่วยอื่นๆ ทุกชีวิตในโรงพยาบาล

“วันชัย วงศ์แสงอนันต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีซัลท์ พลัส จำกัด หรือ “วอชเทค” โรงซักผ้าปลอดเชื้อสำหรับโรงพยาบาล  เปิดเผยว่าผ้าปลอดเชื้อสำหรับโรงพยาบาลเป็นสิ่งจำเป็น ต้องมีระบบตั้งรับผ้าติดเชื้อที่ปลอดภัย โดยใช้นวัตกรรม“ถุงละลายน้ำได้”บรรจุผ้าติดเชื้อโควิด-19นำเข้าเครื่องซัก โดยไม่ต้องแกะถุงละลายน้ำได้ 65 องศา น้ำที่ซักอุณหภูมิ 80 องศาใช้เวลาซัก 15 นาที ซึ่งขั้นตอนนี้ช่วยลดการสัมผัสผ้าติดเชื้อ ลดการแพร่กระจายเชื้อ เพื่อให้มั่นใจว่า โรงซักจะปลอดภัยจากเชื้อ ผ้าที่ซักสะอาดแล้วปลอดภัยและปลอดเชื้อจริง ๆ ก่อนนำผ้าส่งมอบโรงพยาบาลให้แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยได้ใช้งาน

162678046099

  • 8 แนวทางการทำงาน

1. ทำงานแบบ One Way Flow ผ้าที่ซักสะอาดแล้วจะไม่ย้อนกลับไปในพื้นที่โซนสกปรก

2. ใช้เครื่องซักผ้าแบบ Barrier Wall ใส่ผ้าติดเชื้อเข้าเครื่องจากโซนซักผ้าด้านหน้า และนำผ้าสะอาดออกจากเครื่องทางด้านหลังในโซนรีดผ้าสะอาดปลอดเชื้อ

3. โซนซักผ้ามีแรงดันอากาศเป็นลบ (Negative Pressure) มีการดูดอากาศออกมากกว่า 50 เท่า/ชั่วโมง (50 air changed/ hour) ในห้องระบบปิดพร้อมเครื่องดูดอากาศตลอดเวลา

4. โซนรีดผ้าจะมีแรงดันอากาศเป็นบวก (Positive Pressure) มีการอัดอากาศเข้า 20 เท่า/ชั่วโมง (20 air changed/ hour) เพิ่มความมั่นใจว่าอากาศในโซนรีดผ้าและพับผ้ามีลมหมุนเวียนตลอดเวลา ช่วยลดฝุ่นผ้า ความชื้นและความร้อนจากผ้า รวมทั้งลดเหงื่อจากการทำงานของพนักงาน

5. กั้นพื้นที่โซนซักผ้า (Dirty Zone) และ โซนรีดผ้า (Clean Zone) ออกจากกัน โดยอากาศทั้ง 2 โซนจะไม่ปะปนกัน

6. พนักงานในโซนซักผ้า (Dirty Zone) และ โซนรีดผ้า (Clean Zone) ไม่สามารถเดินข้ามพื้นที่ เนื่องจากมีการกั้นพื้นที่ด้วยกำแพงชัดเจน พนักงานไม่สามารถเดินข้ามโซนได้

7. เป็นโรงงานซักผ้าระบบปิด ป้องกัน นก หนู แมลงและฝุ่น ไม่สามารถเล็ดลอดเข้าได้ โครงสร้างของอาคาร เครื่องซักและเครื่องอบ-รีด ออกแบบและใช้งานสำหรับการซักผ้าปลอดเชื้อสำหรับโรงพยาบาลโดยเฉพาะ

8. ใช้ถุงละลายน้ำได้ Degradable Bag เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสำหรับผ้าติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ

162678046020

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • ซัก 'ผ้าติดเชื้อ' 6 หมื่นชิ้นต่อวัน

ปัจจุบันให้บริการซักผ้าปลอดเชื้อตั้งแต่ผ้าผ่าตัด เสื้อผู้ป่วย ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าปูเตียง รวมถึงชุดที่แพทย์พยาบาลใส่ในระหว่างการดูแลรักษาผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาทิ รพ.กรุงเทพ รพ.สมิติเวชธนบุรี รพ.ธนบุรี 1 รพ.ธนบุรี 2 รพ.เมดพาร์ค รพ.สินแพทย์ รพ.นครธน รพ.เวิลด์เมดิคอล รพ.ตำรวจ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

โดยทั่วไป รพ. จะมีผ้าสำรองไว้ 3 ถึง 3.5 ชุด คือ ชุดหนึ่งอยู่ที่ตัวคนไข้ อีกชุดส่งซัก และอีกชุดรอใช้ ส่วนอีกครึ่งเผื่อเหลือเผื่อขาดในบางช่วง ดังนั้น การรับส่งผ้าจะทำตามเวลาที่ รพ.ต้องการ คือ 24 ชั่วโมง เช่น รับมาเช้า ไปส่งเช้าวันถัดไปขึ้นอยู่กับตารางของแต่ละ รพ. ซึ่งปัจจุบัน มีการรับผ้าจาก รพ. มาซักราว 20 ตันต่อวัน เฉลี่ย 3 ชิ้น ต่อ 1 กิโลกรัม หรือราว 6 หมื่นชิ้นต่อวัน ขณะที่ ศักยภาพของโรงซักฯ สามารถรองรับได้ 30 ตันต่อวัน

  • โรงซักฯ มาตรฐาน HA / JCI

ปี 2560 วอชเทค ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท สร้างโรงซักผ้าปลอดเชื้อที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ Healthcare Accreditation (HA) และ Joint Commission International (JCI) ใช้ระบบการควบคุมคุณภาพอากาศภายในโรงงานด้วยการสร้างแรงดันอากาศ ระบบปรับอากาศ ตามมาตรฐานของ The Healthcare Laundry Accreditation Council (HLAC) จนได้จดอนุสิทธิบัตร โรงงานทำความสะอาดผ้าแบบแยกห้อง เลขคำขอ 1703000083 นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมการดักจับฝุ่นผ้าด้วยระบบน้ำ และการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกตามมาตรฐานกระทรวงอุตสาหกรรม

"สถานการณ์ โควิด-19 ระบาด ความต้องการบริการซักผ้าปลอดเชื้อจึงมีความสำคัญและได้รับการตอบรับมากขึ้น  ปี 2565 มีแผนขยายโรงซักผ้าปลอดเชื้อสำหรับโรงพยาบาลระดับภูมิภาคขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูล เพื่อสร้างมาตรฐานสูงสุดในบริการทางการแพทย์ของไทย เตรียมพร้อมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน และสนับสนุนการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสู่นโยบายผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นเมดิคัลฮับพร้อมกันนี้ ยังมีการบริจาคถุงละลายน้ำได้ ให้แก่ รพ. และ รพ.สนาม ในสถานการณ์โควิดไปแล้วบางส่วน” วันชัย กล่าวทิ้งท้าย

162678046093

 

  • วิธีทำความสะอาดเมื่อต้องกักตัว

คนที่ยังรอเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา โดยยังคงพักอยู่ภายในบ้านหรือคอนโดฯ จำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการทำความสะอาดที่อยู่อาศัย รวมถึงเสื้อผ้า และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด สำหรับวิธีการซักผ้าอย่างไรให้ปลอดโควิด-19 

อ.พญ.ปัทมา ต.วรพานิช แนะนำผ่านเว็บไซต์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยระบุว่า ควร หลีกเลี่ยงการสะบัดเสื้อผ้าในบ้าน ลดโอกาสฟุ้งกระจายของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อน ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังจากนำเสื้อผ้าเข้าเครื่องซักผ้า เพื่อป้องกันการนำมือสกปรกมาสัมผัสใบหน้า แยกเสื้อผ้าของสมาชิกในบ้านที่มีอาการเจ็บป่วย ซักผ้าด้วยน้ำอุ่น 40-60 องศา เพื่อช่วยกำจัดเชื้อไวรัส และเช็ดทำความสะอาดถังหรือตะกร้าพักเสื้อผ้าด้วยแอลกอฮอล์ 70% เป็นประจำ

162678049865

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าสาร 3 ชนิดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า สามารถกำจัดเชื้อโควิด-19 ได้คือ 1. โซเดียมไฮโปคลอไรท์ หรือน้ำยาซักผ้าขาว ความเข้มข้น 0.1% 2. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือน้ำยาซักผ้าสี ความเข้มข้น 0.5% 3. แอลกอฮอล์ ความเข้มข้น 70% โดยต้องเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคให้ได้ความเข้มข้นดังกล่าว

ตัวอย่างการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ความเข้มข้น 6% ขนาดบรรจุ 600 มิลลิลิตร ผสมให้ได้ความเข้มข้น 0.1% โดยผลิตภัณฑ์ไป 2 ฝา หรือ 20 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 1 ลิตร และใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดตามบริเวณที่มีการสัมผัสหรือใช้งานร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ รีโมทคอนโทรล ราวบันได เป็นต้น

สิ่งของหรือของใช้ขนาดเล็ก แนะนำให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ได้ โดยขณะทำความสะอาดให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศ และให้แดดส่องทั่วถึงภายในบ้าน หรือ คอนโดฯ ห้องน้ำ ห้องส้วม ให้เน้นเช็ดบริเวณที่รองนั่งโถส้วม ฝาปิดโถส้วม ที่กดชักโครก ราวจับ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่แขวนกระดาษชำระ อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ ที่วางสบู่ ผนัง และซอกประตู ส่วนบริเวณพื้นห้องน้ำสามารถใช้น้ำยาล้างห้องน้ำหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ผสมไว้แล้วราดทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที

  • ทำความสะอาด ภาชนะ และอุปกรณ์ สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้

1. แช่น้ำร้อน 80 องศา 30 วินาที หรือใช้เครื่องอบที่อุณหภูมิ 80–100 องศา แช่น้ำคลอรีน ที่ความเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม โดยผสมผงปูนคลอรีน 60% จำนวน 1 ช้อนชา ในน้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้ให้ตกตะกอน แล้วรินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใสผสมในน้ำสะอาด 20 ลิตร อบหรือผึ่งให้แห้งก่อนใช้ใส่อาหาร และจัดเก็บในที่สะอาด มีการปกปิด

2. แช่น้ำร้อน 80 องศา 30 วินาที หรือใช้เครื่องอบที่อุณหภูมิ 80–100 องศา แช่ด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรท์ โดยใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 6 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วน ครึ่งช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร 1 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด อบหรือผึ่งให้แห้งก่อนใช้ใส่อาหาร และจัดเก็บในที่สะอาด มีการปกปิดที่มิดชิด