เหตุที่ประกาศ'ผ้าอนามัยแบบสอด'เป็นเครื่องสำอาง
ไม่แน่ว่าเป็นผลจากกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอางพ.ศ.2564 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 19 ก.ค. 2564 ระบุให้ "ผ้าอนามัยแบบสอด" สำหรับซับเลือดประจำเดือนเป็นเครื่องสำอางหรือไม่ ทำให้ #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ในทวิตเตอร์
เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เคยชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางหลายครั้งว่า
ผ้าอนามัย ทั้งชนิดที่ใช้ภายนอกและชนิดสอด จัดเป็นเครื่องสำอางตั้งแต่ปี 2528 นับตั้งแต่ มี พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2535 เพราะเข้าได้กับนิยามเครื่องสำอางคือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย โดยไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
ทำไมผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง
ส่วนสาเหตุที่ต้องออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางโดยเฉพาะนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งออก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขนิยามของคำว่าเครื่องสำอางใหม่ คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏหรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินต่างๆ สำหรับผิว แต่ไม่รวมเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว
จึงทำให้ผ้าอนามัยชนิดสอดหลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง เนื่องจากนิยามกำหนดชัดว่าเป็นการใช้ภายนอกร่างกายมนุษย์ แต่ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นการใช้ภายในร่างกายมนุษย์ จึงต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้ครอบคลุม แต่ในทางปฏิบัติ การขอจดแจ้งก็ยังเป็นเครื่องสำอาง จึงต้องออกกฎกระทรวงเพื่อให้เข้าได้กับนิยามตามกฎหมาย
มาตรฐานผ้าอนามัย
การควบคุมมาตรฐานของผ้าอนามัยนั้น หากเป็นผ้าอนามัยภายนอก ต้องผลิตขึ้นโดยผ่านการทำให้สะอาดและถูกสุขลักษณะ ส่วนผ้าอนามัยชนิดสอด ต้องผลิตขึ้นโดยผ่านการทำให้ปลอดเชื้อ และให้ระบุคำว่าปลอดเชื้อไว้ในฉลาก
ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ.2559
เครื่องสำอางต้องไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค คือ 1.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา 2.สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส 3.แคนดิดา อัลบิแคนส์ และ 4.คลอสตริเดียม
ข้อควรระวังใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด
ข้อควรระวังในการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด ที่ต้องแสดงคำเตือนในฉลากคือ 1.ไม่ควรใช้เมื่อภาชนะบรรจุฉีกขาด 2.ไม่ควรใส่ไว้ในช่องคลอดนานเกิน 8 ชั่วโมง ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4-8 ชั่วโมง และ 3.ขณะใช้หากมีอาการไข้ คลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด ท้องเดิน และมีผื่นแดงตามผิวกาย ให้นำผ้าอนามัยออกและรีบไปพบหรือปรึกษาแพทย์ทันที ซึ่งการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดไว้นานเกินอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งบางรายถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด
การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้คำแนะนำว่า ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสเยื่อบุอ่อน สารที่ใช้เป็นส่วนผสมจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ หน้ามืด และมีผื่นแดงขึ้นตามผิวกาย โดยมีสาเหตุมาจากการใช้ไม่ถูกวิธี มีการปนเปื้อนเชื้อโรคขณะสอดใส่เกิดการหมักหมมของประจำเดือน ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรีย
ผู้บริโภคที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ต้องอ่านฉลากให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะในส่วนของวิธีใช้และคำเตือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4-8 ชั่วโมง ไม่ควรใส่ไว้ในช่องคลอดนานเกิน 8 ชั่วโมง หากสายเชือกสำหรับดึงผ้าอนามัยออกมาเกิดการฉีกขาดไม่สามารถนำผ้าอนามัยออกมาเองได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลให้ช่วยนำออกให้ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะเกิดอันตราย สำหรับผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยแบบสอด ต้องจดแจ้งผลิตภัณฑ์ให้เรียบร้อยก่อนการผลิตหรือนำเข้า ต้องแสดงฉลากภาษาไทย มีข้อความบังคับและคำเตือนให้ครบถ้วน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
#ผ้าอนามัยไม่มีภาษี
เกี่ยวกับการเก็บภาษีผ้าอนามัยนั้น ในปี 2562 กรมสรรพสามิต เคยชี้แจงไว้ว่า ที่มีข่าวการเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราสูงถึง 40% เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าว เนื่องจากไม่มีในพิกัดของกรมสรรพสามิต ซึ่งกรมมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เหมือนกับสินค้าทั่วไปอยู่แล้ว
ยืนยันว่า ผ้าอนามัยเป็นของที่ต้องใช้ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย และที่ผ่านมากรมสรรพสามิตก็ไม่มีการไปตรวจจับสินค้าชนิดนี้หน้าโรงงานเพื่อคิดภาษีฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สินค้าฟุ่มเฟือย หมายถึงสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นกับชีวิตหรือไม่กระทบกับชีวิตประจำวัน แต่ผ้าอนามัยจัดอยู่ในสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
จึงไม่มีการเก็บภาษีโดยใช้หลักเกณฑ์ภาษีฟุ่มเฟือย