ม.ขอนแก่น จับมือ อาชีวศึกษา เปิดพื้นที่ให้ 'นักศึกษาฝึกงาน'
'มหาวิทยาลัยขอนแก่น' จับมือ อาชีวศึกษา เปิดพื้นที่เพื่อ 'นักศึกษาฝึกงาน' เรียนรู้การทำงานจริง สร้างความชำนาญวิชาชีพ ระบบสนับสนุนโครงสร้าง ไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคต่างๆ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษา ระหว่าง วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม นายสิทธิศักดิ์ ชำปฏิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ 6 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- เปิดพื้นที่ 'นักศึกษาฝึกงาน'
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดีที่จะได้ร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ในการที่ ระบบสนับสนุนโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคต่างๆ ของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเป็นประโยชน์ให้กับนักศึกษาในหลักสูตรของวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นได้มาฝึกฝนเรียนรู้
“มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสร่วมมือในครั้งนี้ การร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทางวิทยาลัยได้สถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษา ในส่วนของมหาวิทยาลัยเองจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ที่มาดูแลนักศึกษาด้วยเช่นกัน ขอขอบคุณทางสถาบันที่ริเริ่มมาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น หวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์กับสถาบัน โดยเฉพาะนักศึกษาที่จะได้มีประสบการณ์ และขอให้การร่วมมือในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทั้งของสถาบันและนักศึกษาและก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
นายสิทธิศักดิ์ ชำปฏิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น กล่าวว่า อาชีวศึกษาเปิดสอน 3 ระดับระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ ระดับปริญญาตรี เทคโนโลยีบัณฑิต(ทล.บ.) ตาม พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 กำหนดไว้ว่าการจัดการเรียนการสอนหากเป็นระดับ ปวช ปวส ต้องเป็นการจัดในระบบ และ ระบบทวิภาคี โดยในระดับ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ ระดับปริญญาตรี เทคโนโลยีบัณฑิต(ทล.บ.) ในพ.ร.บ.เขียนไว้ว่าให้จัดเป็นระบบทวิภาคีได้ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนที่สถานประกอบการ กับ สถานศึกษาต้องร่วมกันจัดการเรียนการสอนซึ่งในทางนิตินัยต้องมีการ MOU ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการ MOU ร่วมกันในวันนี้
“การที่นักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตจะต้องเข้ารับการศึกษาในสถานประกอบการ เพื่อเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ทางวิชาชีพ ซึ่งสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 โดยวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น พิจารณาเห็นว่าหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่รับผิดชอบด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ภายใต้การกำกับของฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน และ สิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่มีการปฏิบัติงานสอดคล้องกับการเรียนการสอน สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า"
"จึงขอความอนุเคราะห์รับนักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับสถานศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เพิ่มทักษะสร้างเสริมประสบการณ์ในระบบโรงงานอุตสาหกรรม และ พัฒนาตนเองตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ ได้เรียนรู้ถึงสภาพปัญหา และ วิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน” นายสิทธิศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความรับผิดชอบในการ ร่วมกับสถานศึกษาในการจัดทำแผนการเรียนการสอนและแผนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา โดยจะรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ กองอาคารและสถานที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มีการออกใบรับรองการฝึกงานให้แก่นักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์ตามหลักสูตร