'ซุปเปอร์' จ่อร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโควตาใหม่
“ซุปเปอร์” ลั่นพร้อมร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โควตาใหม่ 400 เมกะวัตต์ เผยมีที่ดินพร้อม 2-3 จังหวัด ขณะที่ปีหน้าลุยก่อสร้างหนองคาย 8 เมกะวัตต์ และเตรียมพัฒนาต่ออีก 3 โครงการ
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า บริษัท สนใจเข้าร่วมการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) มีเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าอีก 400 เมกะวัตต์ จากโควตาเดิม 500 เมกะวัตต์
โดยขณะที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น จะเข้าร่วมในรูปแบบใด เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะจำเป็นต้องมีพันธมิตรท้องถิ่น ส่วนเรื่องของที่ดินที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการนั้น เบื้องต้น บริษัท มีที่ดินรองรับแล้วประมาณ 2-3 จังหวัด เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร
ขณะที่ขนาดของโรงไฟฟ้านั้น ยังต้องรอดูศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดยหากมีปริมาณขยะ อยู่ที่ 300-400 ตันต่อวัน ก็อาจจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ แต่ถ้ามาปริมาณขยะมากถึง 1,000 ตันต่อวัน ก็สามารถจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 20-30 เมกะวัตต์ได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ขนาด 20 เมกะวัตต์ต่อแห่ง น่าจะมีความคุ้มค่าทางด้านการลงทุนมากสุด
“โรงไฟฟ้าขยะ เราเข้าร่วมประมูลแน่นอน และดูอยู่ว่าจะเข้าร่วมอย่างไร ซึ่งขณะนี้ ก็ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างรอฟังผล และเข้าร่วมการประมูล”
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท มีโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ในมือร่วม 64 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD) แล้ว 2 โครงการ คือ ตั้งอยู่ที่ จ.พิจิตร และ จ.สระแก้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 โครงการที่ จ.หนองคาย ขนาด 8 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปีหน้า
รวมถึง ยังมีโรงไฟฟ้าขยะ อีก 3 โครงการในมือ ที่รอเริ่มการก่อสร้าง คือ จ.เพชรบุรี ขนาด 10 เมกะวัตต์ จ.นนทบุรี ขนาด 20 เมกะวัตต์ และ จ.นครศรีธรรมราช ขนาด 20 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของ จ.เพชรบุรี มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(ประชาพิจารณ์)
ส่วนจ.นนทบุรี และ จ.นครศรีธรรมราช ได้เซ็นสัญญารับกำจัดขยะกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเทศบาลไปเรียบร้อยแล้ว เหลือดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ แล้วจึงลงนาม PPA ก่อนเริ่มก่อสร้างต่อไป ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ จะทยอย COD ในช่วงปี 2566-2576 หรือ มีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 16-18 เดือน และใช้เวลาจัดทำ EIA อีก 8 เดือน ถึง 1 ปี
สำหรับเม็ดเงินลงทุนโรงไฟฟ้าขยะนั้น จะขึ้นอยู่กับประเภทของเทคโนโลยีที่บรรจุไว้ในเงื่อนและหลักเกณฑ์การเปิดประมูลโครงการ(ทีโออาร์) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 100-150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เช่น ระบบสโตกเกอร์ (Stoker) เผาตรง จะอยู่ที่ 120 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และระบบเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) จะอยู่ที่ประมาณ 140-150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เป็นต้น
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่เปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์นั้น บริษัท ไม่ได้เข้าร่วมการประมูล เนื่องจากมีการแข่งขันสูง และส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบเป็นสำคัญและบริษัทไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้