กยท.โค่นยางพท.ไม่เหมาะสม หนุน“ทุเรียน”พืชทดแทน
จากกระแสความต้องการทุเรียนมีมากขึ้นและเป็นพืชที่มีมูลค่า ดังนั้นเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีแนวคิดที่จะปลูกทุเรียนแทนยางพารานั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี กำหนดที่จะลดพื้นที่ปลูกยางพาราให้เหลือประมาณ 18.4 ล้านไร่
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย( กยท.) เปิดเผยว่า ในเรื่องนี้ถือว่าสามารถดำเนินการได้ทันที ตามนโยบายโค่นต้นยางแล้วปลูกพืชทดแทน
ทั้งนี้ มีแผนกำหนดเป้าหมายการปลูกพืชทดแทนสวนยางพาราเก่า โดยมีเป้าหมายรวม 2.6 ล้านไร่ ทยอยโค่น ปีละ 4 แสนไร่ และในปีนี้ 2 แสนไร่ ลดลงจากทุกปีที่กำหนดไว้ 4 แสนไร่ต่อปี จะสามารถดำเนินการได้ทั้งปลูกยางพาราใหม่ทดแทน หรือพืชอื่นตามที่เกษตรกรต้องการ โดยจะได้รับการชดเชยไร่ละ 16,000 บาท พร้อมกับสนับสนุนปัจจัยการผลิต 3-5 ปี ตามประเภทและช่วงอายุของพืชแต่ละชนิดที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
“แผนการโค่นยางเพื่อปลูกยางใหม่ทดแทนต้นเดิมจะกำหนดไว้เฉพาะต้นยางที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งหมดหน้ากรีดไปแล้ว ต่อมาได้ลดอายุต้นยางลงเพื่อให้โอกาสเกษตรกรที่ต้องการโค่นเร็วขึ้น เพราะไม้ยางมีราคาสูง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ปลูกพืชอื่นทดแทนไม่เพียงเฉพาะยางเท่านั้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างเสถียรภาพราคายาง จากที่มีปัญหาราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา “
สำหรับการปลูกทุเรียนทดแทน นั้นคาดว่ากระทรวงเกษตรฯจะกำหนดเป็นนโยบายอีกครั้ง การดำเนินการปลูก กยท. จะสนับสนุนในพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะวิเคราะห์ตามแผนที่เกษตรหรือ อะกริ แมฟ(Agri-Map) ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ ต้องศึกษาตลาดการทุเรียน รวมทั้งแนวโน้มผลผลิตที่จะมีขึ้นในอนาคต ด้วย เพื่อไม่มีปัญหาทางด้านราคาตามมา
“ สิ่งที่ กยท.ต้องการในขณะนี้คือการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกพืชผสมผสาน เพื่อความเสี่ยงไม่ให้เกษตรกรพึ่งพาแต่ราคายางพาราเพียงอย่างเดียว ซึ่ง ทั้งทุเรียน ปาล์มน้ำมัน ล้วนมีมูลค่าทางการตลาด ในขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้ปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่น เพื่อขายไม้ด้วยเพราะความต้องการของตลาดมีเยอะมาก”
สำหรับการโค่นยาง แม้ว่าจะกำหนดเป้าหมายไว้ประมาณ 4 แสนไร่ต่อปี แต่ในปี 2558 พบว่ามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ มากถึง 6.3 แสนไร่ 5.6 หมื่นราย แต่ได้รับการอนุมัติ 5.4 แสนไร่ 5.2 หมื่นราย ปี 2559 ยื่นขอร่วมโครงการ 4 แสนไร่ 3.6 หมื่นราย ได้รับการอนุมัติ 3.6 แสนไร่ 3.4 หมื่นราย
ปี 2560 ยื่นขอร่วมโครงการ 4. 6แสนไร่ 4.3 หมื่นราย ได้รับการอนุมัติ 4.2 แสนไร่ 4.2 แสนราย ปี 2561 ยื่นขอร่วมโครงการ 4.99 แสนไร่ 4.8 หมื่นราย ได้รับการอนุมัติ 4.4 แสนไร่ 4.6 หมื่นราย
ปี 2562 ยื่นขอร่วมโครงการ 3.5 แสนไร่ 3.4 หมื่นราย ได้รับการอนุมัติ 3.1 แสนไร่ 3.3 หมื่นราย ปี 2563 ยื่นขอร่วมโครงการ 3.8 แสนไร่ 3.7 หมื่นราย ได้รับการอนุมัติ 3.3 แสนไร่ 3.5 หมื่นราย
ในปี 2564 มีเป้าหมายเพียง 2 แสนไร่ แต่การยื่นขอร่วมโครงการตั้งแต่ เดือน ม.ค.- มิ.ย. มีกว่า 2.3 แสนไร่ 2.2 หมื่นราย ได้รับอนุมัติไปแล้ว 1.89 แสนไร่ 1.9 หมื่นราย
“การพิจารณาการโค่นยางจะปรับให้สอดคล้องกับภาวะราคายางและไม้ยาง ความต้องการของเกษตรกร ซึ่งบางรายอาจมีความจำเป็นต้องการเงินก้อน ก็ต้องการขายไม้ยาง ก็สามารถทำได้ ซึ่งขณะนี้ไม้ยางราคาดีมาก กยท.ก็จะบริหารซัพพลายให้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ “
ล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ราคาไม้ยางปรับขึ้นแตะ 42,177 บาทต่อไร่ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาไม้ยาง
ดังกล่าว และเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทำให้การโค่นไม้ยางพารานั้น กยท.จึงได้ออกประกาศ เรื่อง การอนุญาตให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางพาราก่อนได้รับอนุมัติการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการปรับหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป
โดยให้เกษตรกรยื่นคำร้องรับการปลูกแทนที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัด หรือการยางแห่งประเทศไทยสาขาที่สวนยางของเกษตรกรตั้งอยู่ ซึ่ง กยท.จะจัดคำขอการปลูกแทนเรียงตามลำดับก่อนหลังไว้เป็นรายปี ในแต่ละปีเจ้าของสวนยางจะได้รับการปลูกแทนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ทั้งนี้ กยท. จะแจ้งให้เจ้าของสวนยางทราบล่วงหน้าว่า จะได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนในปีใด
“หลังจากที่ กยท. ได้รับคำร้องแล้ว จะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจรังวัด เพื่อตรวจสภาพพื้นที่แปลงปลูก เช่นจะต้องเป็นต้นยางอายุกว่า 25 ปีขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมเสียหาย หรือต้นยางได้ผลน้อย จึงจะอนุญาตให้โค่นต้นยางได้”
ทั้งนี้ในปี 2564 ที่เกษตรกรต้องการโค่นต้นยางมากเกินเป้าหมายและงบประมาณที่กำหนดไว้ เกษตรกรจะได้รับเงินสนับสนุนการปลูกแทน ในปีงบประมาณ2565