คลัสเตอร์“ตลาดศรีเมือง” เสี่ยงวิกฤติราชบุรี
สถานการณ์วันนี้ของ “ตลาดศรีเมือง” จึงเสี่ยงซ้ำรอย “ตลาดกลางกุ้ง” สมุทรสาคร ที่เคยเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ระลอก 2 กระจายไปทั่วประเทศ จนต้องปิดไปกว่า 2 เดือน
“ตลาดศรีเมือง” ตลาดกลางผักและผลไม้ กลางเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นตลาดกลางค้าส่งระดับประเทศ ที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นคลัสเตอร์โควิดใหญ่หากเอาไม่อยู่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบขยับขึ้นหลักร้อยในแต่ละวัน ทว่าข้อมูลสาธารณสุขจังหวัดคาดว่าตัวเลขแฝง รอการตรวจเชื้อเชิงรุก อาจทะลุหลักพัน
สถานการณ์วันนี้ของ “ตลาดศรีเมือง” จึงเสี่ยงซ้ำรอย “ตลาดกลางกุ้ง” สมุทรสาคร ที่เคยเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ระลอก 2 กระจายไปทั่วประเทศ จนต้องปิดไปกว่า 2 เดือน
ข้อกังวลของชาวราชบุรีในเรื่องนี้ ไม่เกินจริง เพราะขนาดตลาดบนพื้นที่ 200 ไร่ กว้างใหญ่ไพศาล มีอาคารสินค้าแต่ละประเภท อาทิ อาคารค้าส่งผัก อาคารพืชไร่ ผักต่างประเทศ อาคารปลาสวยงาม ลานเกษตรหมุนเวียน ไม้ดอกไม้ประดับ อาคารจอดรถซื้อ รวมทั้งอาคารพาณิชย์กว่า 100 ห้อง
มีการเข้าออกของผู้คนแต่ละวัน จำนวนหลายพัน ทั้งคนขาย คนส่ง คนซื้อ ที่มาจากทั่วสารทิศทุกจังหวัด โดยเฉพาะจากภาคใต้
ที่สำคัญแรงงานในตลาด หลักๆ เป็นแรงงานชาวเมียนมา มีทั้งถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย
ความน่าวิตกอีกส่วนหนึ่งคือ ระบบสาธารณสุขจังหวัด และบุคลากรทางการแพทย์ ที่สามารถรองรับสถานการณ์ได้หรือไม่ เพราะตรวจหาเชื้อเมื่อไหร่ ก็เจอทุกรอบ
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ จากมิถุนายนตัวเลขหลักเดียว และตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมขยับขึ้นหลักครึ่งร้อย ไต่ขึ้นมาเกินร้อย และล่าสุด 23 ก.ค.2564 ทำสถิติสูงสุด 191 ราย ขณะที่ตัวเลขฉีดวัคซีน ฉีดได้ 70,659 ราย หรือแค่ 9.8% ของเป้าหมาย
สาธารณสุขจังหวัดรายงานว่า เตียงโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง รวมทุกประเภท 2,049 เตียง ก็ถูกใช้ไป 1,743 เตียง เกือบเต็มศักยภาพ จนล่าสุดต้องไปขอพื้นที่วัดเขาวัง ขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มเป็นแห่งที่ 8 เพื่อสำรองไว้สำหรับคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ และผู้ป่วยชาวราชบุรี ตามโครงการกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด อีกทั้งยังต้องเตรียมมาตรการกักตัวในชุมชน และมาตรการกักตัวที่บ้าน อย่างเร่งด่วน
ล่าสุด ได้มีคำสั่งจังหวัด ยกระดับมาตรการโดยรวม ปิดกิจการสถานที่ 20 ประเภท 10 วัน ตั้งแต่ 23 กรกฎาคม- 2 สิงหาคม 2564
ทว่า คลัสเตอร์ที่ชาวบ้านหวาดผวา คือตลาดศรีเมืองที่พบแรงงาน และชุมชนรอบตลาดติดเชื้อ ยังเปิดทำการปกติ ซึ่งที่ผ่านมา หลังจากมีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ ยังพบว่ามีการแพร่เชื้อต่อเนื่องกระจายไปในชุมชน จึงมีการปิดพื้นที่ในตลาดเป็นส่วนๆ และกำลังจะกลับมาเปิดใหม่
จึงทำให้เกิดความวิตกของคนในพื้นที่ว่า ตลาดที่เปิด 24 ชั่วโมง และราชบุรีไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ต้องควบคุมเข้มงวด ระดับเคอร์ฟิว จะส่งผลต่อสถานการณ์โรคอย่างไร หากแหล่งระบาดนี้ ยังบริหารจัดการแบบปิดๆ บางอาคารส่วนน้อย และเปิดๆ หลายอาคารส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแรงงานติดเชื้อถูกกักตัวในอาคารพื้นที่ตลาด โดยไม่มีระบบเตียงสนาม สามารถห้ามการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนติดเชื้อได้หรือไม่ อีกทั้งพื้นที่ตลาดก็เป็นการเข้า-ออกทางเดียว กลางคืนไม่มีใครไปเฝ้าเหมือนพื้นที่ล็อกดาวน์
แม้อีกมุม ในด้านเศรษฐกิจฝ่ายบริหารอาจมีความเป็นห่วงว่า หากปิดทั้งตลาด เกรงจะเกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนหลายส่วน และเสียหายต่อเศรษฐกิจจังหวัด ขณะที่่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไม่หยุด จะตัดสินใจอย่างไร
เป็นที่รู้กันว่า ตลาดใหญ่แห่งนี้ ก่อตั้งโดยผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว แห่งพรรคภูมิใจไทย “นภินทร ศรีสรรพางค์” ที่เริ่มธุรกิจตลาดนี้มาตั้งแต่ปี 37 โดยบริษัท แอ็กโกรคอมเมอร์ส กรุ๊ป จำกัด จากที่ดิน 27 ไร่ พัฒนาเป็นตลาดค้าส่งพืชผลทางการเกษตรเป็น 200 ไร่ในปัจจุบัน
สถานการณ์ที่เริ่มส่อเค้าจะเข้าสู่วิกฤติ จนเสียงเรียกร้องจากคนในพื้นที่ ให้จังหวัดเร่งแก้ปัญหากำลังเริ่มดังขึ้นทุกทีว่า ถ้าเป็นคนอื่นคงโดนปิดทั้งตลาดแล้ว
เรื่องความเป็นความตายครั้งนี้ ชาวราชบุรีจึงหวังพึ่งผู้ว่าฯ รณภพ เหลืองไพโรจน์ ในฐานะประธานคณะโรคติดต่อจังหวัด ที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อประเมินสถานการณ์ในวันนี้ หลังจากการประชุมทางไกลที่ มท.1 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะทำความเข้าใจและมอบนโยบายผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเช้าวันนี้
“ล็อกดาว" รอบสองของรัฐบาลที่มาล่าช้า ควรจะเป็นบทเรียนราคาแพง ถึงการ "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" ! ของราชบุรี