'อนุพงษ์' สั่งผู้ว่าฯ จัดระบบรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา กำชับจังหวัดชายแดนใต้สกัด 'โควิด' ระบาด

'อนุพงษ์' สั่งผู้ว่าฯ จัดระบบรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา กำชับจังหวัดชายแดนใต้สกัด 'โควิด' ระบาด

"อนุพงษ์" เรียกประชุมผู้ว่าฯทั่วประเทศ สั่งจัดระบบรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา กำชับจังหวัดชายแดนใต้สกัด "โควิด" ระบาดพื้นที่อื่น

วันที่ 24 .. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม,) ร่วมประชุม ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และนายอำเภอ ทั่วประเทศ

162711031059

พลเอกอนุพงษ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการสร้างระบบการส่งต่อผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจังหวัดที่สามารถช่วยแบ่งเบาการบริหารสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งในขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดช่วยเหลือประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่ใด ให้เข้าสู่ระบบโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการทำงานบูรณาการกันทุกภาคส่วน ลดขั้นตอน ลดช่องทาง เพิ่มการประสานงาน ตอบสนองให้เร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามขั้นตอนที่กำหนด

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดและเน้นย้ำมาตรการในการบริหารจัดการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ โดยใช้ระบบแยกกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 และการแยกกักในชุมชน ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งต้องมีการจัดกระเป๋าชุดสังเกตการณ์และบุคลากรทางการแพทย์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยในระบบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาการจัดบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยให้เพียงพอรองรับผู้ป่วยระดับต่างๆ

พลเอกอนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สร้างการรับรู้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นพื้นฐานทำให้ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมาตรการ DMHTTA ได้แก่ รักษาระยะห่างระหว่างกัน ไม่พบปะหรือไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือสม่ำเสมอ ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจเชื้อโควิด-19 ใช้แอปพลิเคชันหมอชนะและไทยชนะอย่างเข้มข้น ด้วยทุกกลไกของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หอกระจายข่าว และเสียงตามสายในพื้นที่

พลเอกอนุพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งบูรณาการหน่วยงานทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการสนับสนุนมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้การจัดการเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ดังนั้นขอให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล ควบคุมการแพร่ระบาดผ่านกลไกและมาตรการอย่างเข้มข้น รวมทั้งในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องควบคุมการแพร่ระบาดพร้อมสกัดกั้นการแพร่ระบาดตามแนวชายแดน ไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นอย่างเต็มกำลัง เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาด

"ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดบริหารจัดการขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ให้เป็นไปตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการที่กระทรวงมหาดไทย"พลเอกอนุพงษ์ ระบุ

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นราธิวาสปัตตานี ยะลา และสงขลา ได้รายงานการดำเนินการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กล่าวถึงการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรค

162711038856

ด้านนายทรงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากคนที่ไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดมาตรการการตรวจเชิงรุกและหาวิธีการบำบัดรักษาในเบื้องต้น เพื่อลดการสูญเสียชีวิต นอกจากนี้ให้ใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการติดตามรับคนกลับมารักษาตัวที่บ้าน

162711039918

ขณะที่นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ยารักษาโรคโควิด-19 และอุปกรณ์ตรวจเชื้อเบื้องต้น เพื่อให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปดูแลประชาชนอย่างเต็มที่