บริหารวิกฤติโควิด บนความขาดแคลน
การบริหารสถานการณ์โควิด-19 บนความขาดแคลนวัคซีน ขาดแคลนเตียงรักษา รวมทั้งขาดแคลนงบประมาณ ทำให้ "รัฐบาล" ต้องจัดสรรทรัพยากรให้ดี เพื่อไม่ให้ไทยเดินไปสู่การเป็นรัฐที่ "ล้มเหลว"
สิ่งที่สำคัญประเด็นหนึ่งของการบริหารสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ คือ จำนวนทรัพยากร ซึ่งจะต้องมีเพียงพอเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเพียงพอใจจุดที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งในสนามรบจะมีหน่วยส่งกำลังบำรุงจากแนวหลังไปแนวหน้าเพื่อให้มีอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารเพียงพอที่จะต่อสู้กับข้าศึก และเป็นที่มาของการจัดการระบบโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจในปัจจุบันที่ใครบริหารโลจิสติกส์ได้ดีก็มีโอกาสที่จะชนะคู่แข่งได้
การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศรุนแรงมากขึ้น โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 10 วันที่ผ่านมา รวมกันแล้วอยู่ในหลักแสนคน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 25 ก.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อรวม 468,439 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 3,965 ราย และยังคงมีแนวโน้มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหลังจากมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้สถานการณ์ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่องจนกว่าที่ประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้
ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับคนไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 อยู่ที่ 15.86 ล้านโดส ซึ่งถือว่าล่าช้ามากเพราะมีปัญหาเรื่องการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จนรัฐบาลต้องสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม
ในขณะที่ วัคซีนทางเลือก ที่อนุญาตให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และสภากาชาดไทยนำเข้ามาก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนวัคซีน จนรัฐบาลต้องยอมเข้าร่วมโครงการ COVAX ที่เป็นโครงการให้ทุกประเทศเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศไทยปฏิเสธเข้ามาร่วมตลอดในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา
จำนวนผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัว 158,550 ราย เป็นผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 91,049 ราย เป็นผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลสนาม 67,501 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 4,151 ราย และเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักในระดับที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 961 ราย
ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตในบ้านและในที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น เพราะเข้าถึงถึงการรักษาทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนเตียงรักษามากขึ้น
ประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะบริหารสถานการณ์บนความขาดแคลนวัคซีน ขาดแคลนเตียงรักษา รวมทั้งขาดแคลนงบประมาณจนรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.รวม 2 ฉบับ เพื่อให้กระทรวงการคลังกู้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท แต่การระบาดที่ยืดเยื้อจะทำให้งบประมาณไม่เพียงพอ และรัฐบาลขาดแคลนทรัพยากรรับมือ
ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดสรรทรัพยากรให้ดี ส่วนใดควรเร่งจัดหาก็รีบดำเนินการ และส่วนใดเป็นจุดรั่วไหลของงบประมาณหรือใช้งบประมาณไม่เต็มประสิทธิภาพให้รีบจัดการไม่อย่างนั้นจะไทยจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว