WHAUP ลั่นพร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม
“ดับบลิวเอชเอยูพี” ลั่นมีพื้นที่พร้อมลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ได้อีกอย่างน้อย 4 แห่ง กำลังผลิตรวมเกือบ 40 เมกะวัตต์ เผยยังรอรัฐชัดเจนนโยบาย ชี้ ปรับอัตรารับซื้อไฟใหม่ ไม่เป็นอุปสรรค มั่นใจรัฐคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการลงทุน
นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า บริษัท อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จากปัจจุบัน ได้ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) กำลังการผลิต 8.63 เมกะวัตต์ ซึ่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค.ปี 2562 และปัจจุบันการดำเนินงานในโรงไฟฟ้าดังกล่าวก็เป็นไปด้วยดี และมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานยุโรป อีกทั้งยังสะอาด ไม่มีกลิ่น และบริษัท คาดหวังให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโชว์รูมต้นแบบที่ตั้งอยู่กลางนิคมฯ แล้วเป็นที่ยอมรับของชุมชนในพื้นที่
ดังนั้น หากภาครัฐมีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มเติม บริษัทก็พร้อมที่จะขยายการลงทุน เนื่องจากมีความพร้อมด้านที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าเดิมที่ยังสามารถขยายเพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมประเภทโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก หรือ VSPP ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ หรือ ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ต่อแห่ง ซึ่งจะก่อสร้างได้อีกอย่างน้อย 4 แห่ง หรือ มีกำลังการผลิตรวมไม่เกิน 40 เมกะวัตต์
บริษัทมั่นใจว่า พื้นที่ตรงนี้มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เพราะมีระบบสาธารณูปโภค มีสายส่ง และกระแสการตอบรับจากชุมชนก็ไม่มีปัญหา อีกทั้งโครงการที่ผ่านมาก็ทำได้ดี จึงคากว่าจะพัฒนาได้อีกหลายโครงการ
“เราเตรียมที่ไว้เรียบร้อยแล้ว เหลือแค่รอนโยบายรัฐบาลเปิดรับซื้อเพิ่ม อย่างน้อยพื้นที่รองรับได้อีก 4 โรงแต่จะเกิดได้จริงเท่าไหร่ ยังต้องรอดูนโยบายและปริมาณขยะในพื้นที่ด้วย”
นายนิพนธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมทบทวนอัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff) หรือ FiT สำหรับเชื้อเพลิงขยะว่า ปัจจัยดังกล่าวก็จะต้องนำมาคำนวณความเป็นไปได้ในการลงทุนในอนาคตด้วย เพราะหากปรับลด FiT ลงแล้ว ต้นทุนค่าก่อสร้างเป็นอย่างไร มีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ ปกติแล้วจะมีรายได้จาก 2 ส่วน คือ รายได้จากการขายไฟฟ้า และรายได้จากค่ากำจัดขยะ โดยข้อมูลเหล่านี้ก็ต้องนำมาประกอบการพิจารณาต่อไป
“จริงๆแล้วที่ผ่านมา การใช้ FiT ของภาครัฐ ก็คำนวณมาจากการลงทุนของภาคเอกชน เฉพาะหากรัฐจะปรับ FiT ลงก็มีความเป็นไปได้ เพราะต้นทุนเทคโนโลยีก็มีแนวโน้มลดลง แต่ก็เชื่อว่ารัฐจะพิจารณาอย่างรอบครอบ เพราะหาก FiT ต่ำไปก็จะไม่เอื้อให้เกิดการลงทุน”
สำหรับเม็ดเงินลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมนั้น ปัจจุบัน คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งจะสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น เพราะจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงเพื่อดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) กำลังการผลิต 8.63 เมกะวัตต์ เป็นการลงทุนร่วมระหว่าง บริษัทดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสุเอซ (SUEZ) เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2560 กำลังการผลิตขนาด 8.63 เมกะวัตต์ ตามข้อตกลงการซื้อขายพลังงาน (power purchase agreement- PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่าการลงทุนในโครงการนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,800 ล้านบาท หรือประมาณ 57 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ตามแผนพัฒนากาลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580. 12. ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 (PDP2018 Revision 1) ทางกระทรวงพลังงาน กำหนดเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม เพิ่มเติมอีก 44 เมกะวัตต์ จากแผน PDP เดิมมีการรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมไปแล้ว 31 เมกะวัตต์ หรือ รวมปลายแผนปี 2580 ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รวมอยู่ที่ 75 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันนั้น ทางกระทรวงพลังงาน ยังไม่มีการประกาศนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มเติม