‘ค้าปลีก-ร้านอาหาร’ติดล็อกสาหัส! ‘สายป่านสั้น’หวั่นหายจากตลาด
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ รัฐบาลต้องยกระดับมาตรการป้องกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ด้วยการ “ล็อกดาวน์” กระทบตรงห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และอีกหลายกิจการที่ต้องปิดบริการชั่วคราว จะพลิกเกมประคองธุรกิจในภาวะการณ์นี้อย่างไร
“ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สงครามเชื้อโรคครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
"เราอยู่ในช่วงวิกฤติซ้อนวิกฤติ การฉีดและกระจายวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้า ยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลควรเร่งเยียวยากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน"
โดยประเมินผลกระทบขณะนี้มี “เอสเอ็มอี” ในระบบกว่า 200,000 รายที่กำลังจะต้องปิดตัวลง มีลูกจ้าง 1-1.5 ล้านราย ที่ต้องขาดรายได้และไม่มีงานทำ แน่นอนว่ากระทบเชื่อมโยงสถาบันการเงินอย่างหนัก เพราะจะก่อให้เกิด “หนี้เสีย” หลายแสนล้านบาททีเดียว
** ชง4มาตรการเร่งด่วน
สมาคมฯ ได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา 4 มาตรการเร่งด่วน ดังนี้ 1.มาตรการสาธารณสุข จัดหาและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ใช้พื้นที่จุดฉีดวัคซีนที่ภาคค้าปลีกและบริการได้เตรียมไว้ทั้งหมด 93 จุดทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเพิ่มบริการตรวจ Rapid Antigen Test ให้ประชาชน เร่งจัดสรรวัคซีนให้บุคลากรในภาคค้าปลีกและบริการ โดยเฉพาะศูนย์กระจายสินค้าของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ รองรับความต้องการของประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า
2.มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน โดยเร่งรัดการอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เร็วขึ้น ซึ่งช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอีที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อเพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 30,000 ราย พร้อม "พักชำระหนี้" และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มเป็น 50% เป็นเวลา 6 เดือน ขอผ่อนผันให้เป็นการจ้างงานแบบรายชั่วโมงเป็นการชั่วคราว เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และลดอัตราการว่างงาน นอกจากนี้ ขอให้ปรับเพิ่มรายได้พึงประเมินบุคคลธรรมดาขั้นต่ำที่จะเสียภาษีจาก 150,001 บาท เป็น 250,001 บาท ในปี 2564-2565 เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในระบบ รวมถึงผ่อนผันให้ร้านอาหารในศูนย์การค้าสามารถให้บริการ “ดีลิเวอรี่” ได้ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้พยุงธุรกิจได้ และลูกจ้างยังมีงานทำต่อไป
3.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง และขอให้ภาคเอกชนไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลและ “บีโอไอ” เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติ
“เอกชนที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความแข็งแรง สามารถลงทุนเพิ่ม แต่อาจขาดความมั่นใจและแรงกระตุ้น”
4.มาตรการรองรับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ต้องกำหนดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อควบคุมบางธุรกิจห้ามนักลงทุนต่างชาติทำโดยเด็ดขาด บางธุรกิจสามารถทำได้แต่มีเงื่อนไขเพื่อปกป้องอาชีพและธุรกิจของคนไทย โดยไม่ทำลายอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยในที่สุด ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม จัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่บาทแรก และห้ามขายต่ำกว่าราคาต้นทุน เร่งผลักดันการทำ “Digitalization” ของหน่วยงานภาครัฐสำหรับใบอนุญาตต่างๆ ให้เป็นแบบ E-Form, E-License, E-TAX และ E-Invoice และลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 1 ใบ (Super License) จากเดิมที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหรือค้าส่งต้องขอใบอนุญาตต่างๆ กว่า 43 ใบ ปรับรูปแบบการบริการของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชน เป็นแบบ Cashless Payment เพื่อลดกระดาษ เอกสาร ขั้นตอน ตรวจสอบเอกสารย้อนหลังได้จากระบบ
** ร้านอาหารสูญรายได้มหาศาล
"ประพัฒน์ เสียงจันทร์" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการ “ล็อกดาวน์” ในพื้นที่ 13 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารที่มีสาขาในห้างค้าปลีกอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่องทางหลักที่ให้บริการแก่ผู้บริโภค โดยไมเนอร์ ฟู้ดฯ มีร้านอาหารให้บริการทั้งสิ้น 1,475 สาขาทั่วประเทศ จากมาตรการล็อกดาวน์ต้องปิดบริการ 590 สาขา
“ล็อกดาวน์ครั้งนี้ ร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักกว่าทุกครั้ง เพราะเป็นครั้งแรกที่ต้องปิดร้านในห้างค้าปลีก ซึ่ง 2 วันแรก ยอดขายหายไป 20-30% ต่อวัน แต่เราสู้ไม่ถอย"
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับตัวเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง ระดมทีมงานหาทางเปิดครัวกลาง หรือ คลาวด์ คิทเช่น ผ่านแบรนด์ต่างๆ ในเครือ รวม 120 สาขา เช่น สเวนเซ่นส์ และแดรี่ ควีน 50 สาขา ครัวกลางของร้านซิซซ์เลอร์ 5 สาขา รวมถึงร้านไก่ทอดบอนชอน นอกจากนี้ เน้นนำเสนอเมนูอาหารที่มีราคา ความคุ้มค่า กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จากปกติจะเป็นการออกเมนูใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคตื่นเต้น ต้องการลองบริโภค รวมถึงจัดโปรโมชั่นส่งอาหารฟรีหรือ ดีลิเวอรี่ สำหรับยอดสั่งซื้อ 500 บาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องการให้รัฐบริหารจัดการลดการแพร่ระบาดไวรัสโดยเร็ว เพราะถือเป็นความหวังเดียวในการหยุดโรคระบาดได้
“ตอนนี้ต้องแก้ต้นตอของปัญหาคือหยุดไวรัส การจัดหาวัคซีนไม่ใช่รอปีหน้า ส่วนการเปิดประเทศควรทำโรดแมพให้ชัดเจน เพราะตอนประกาศนโยบายคนติดเชื้อยังไม่มาก ปัจจุบันติดหลักหมื่น”
** ล็อกดาวน์สะเทือนซัพพลายเชน
"บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ดัง บาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซบฮัท กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์รอบนี้เป็นการ "ชัตดาวน์" ปิดร้านอาหารทั้งหมด ไม่ใช่แค่ห้ามนั่งรับประทานในร้านเหมือนที่ผ่านมา ซึ่ง ฟู้ดแพชชั่น มีร้านอาหารในศูนย์การค้าจำนวนมาก การล็อกดาวน์ต้องปิดร้านกว่า 90% เช่น ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า มี 144 สาขา ปิดให้บริการ 108 สาขา
อย่างไรก็ดี ธุรกิจต้องไปต่อ! โดยบริษัทเร่งหาพื้นที่เปิดศูนย์กลางดีลิเวอรี่ (ฮับ) 13 สาขา และเพิ่มเป็น 25 สาขา เมื่อ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีพันธมิตรหลัก “บางจาก” ในการใช้สถานีบริการน้ำมันเพื่อเป็นจุดกระจายสินค้า
"การปรับตัวครั้งนี้ เป็นการลองวิชา เปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ โดยเฉพาะการจัดการวัตถุดิบเพื่อส่งให้ผู้บริโภค เดิมจะมีการสไลด์หมูที่ร้านไว้บริการลูกค้า ล่าสุดสไลด์จากโรงงาน และใช้รถควบคุณอุณหภูมินำมายังฮับดีลิเวอรี่"
นอกจากนี้ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดระยะสั้น การใช้วิชาตัวเบาสำคัญมาก บริษัทจึงนำพสินทรัพย์ที่มีมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เช่น พื้นที่ต่างๆ การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อกระจายสินค้า สำหรับด้านการจ้างงานก่อนโควิดระบาดรอบแรกมีพนักงานทั้งประจำและพาร์ทไทม์ 3,000-4,000 คน ปัจจุบันเหลือ 1,800-1,900 คน โดยไม่มีการลด หรือเลิกจ้างแต่อย่างใด แต่ลดในส่วนพนักงานพาร์ทไทม์
“การล็อกดาวน์ครั้งนี้กระทบธุรกิจอาหารทั้งซัพพลายเชน รายเล็กน่าห่วง เพราะวัตถุดิบผัก ของสดต่างๆ สูญเสีย ส่วนการปรับตัวเปิดร้านนอกห้าง เรามองระยะยาว เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐ จึงเดินหน้าร้านนอกห้างต่อ และอาจเปลี่ยนเกมการทำธุรกิจร้านอาหารที่เคยเช่าที่ในห้างค้าปลีกด้วย”
ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารมีมูลค่า 4-5 แสนล้านบาท ผู้ประกอบการจ่ายภาษีให้รัฐไม่น้อยต้องได้รับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยรัฐต้องพิจารณานำนำวัคซีนที่สอดคล้องกับเชื้อไวรัสปัจจุบันมาฉีดให้ภาคบริการที่ต้องติดต่อผู้คน เช่น ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ไรเดอร์ฯ มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้ผู้ประกอบการ เจรจาหรือมีคำสั่งที่ชัดเจนการยกเว้นค่าเช่าที่ในห้างค้าปลีก เป็นต้น
** รายเล็ก-สายป่านสั้นหายจากตลาด
"วิน สิงห์พัฒนกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชอคโกแลตกรุ๊ป ผู้บริหารร้านชอคโกแลตวิลล์ ซูชิ เอ็กซ์เพรส มองว่า ปัจจุบันรัฐให้ความสำคัญกับมาตรการจัดการไวรัส 80% เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดเพียง 20% และไม่มีแผนรับมือในอนาคต!
ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบไกลเกินกว่าจะปรับตัวแล้ว โควิดรอบแรกผู้ประกอบการยังปรับตัวได้ เพราะมีกระสุนทุน แต่ระลอก 2-3 เริ่มขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะร้านขนาดเล็ก เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายคาดว่าผู้ประกอบการรายย่อยจะหายไปจากตลาดจำนวนมาก จากปัจจุบันปิดตัวไปไม่น้อยแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทดำเนินธุรกิจร้านซูชิ เอ็กซ์เพรส 15 สาขา และชอคโกแลตวิลล์ ซึ่งปิดให้บริการทั้งหมด จากเคยมีรายได้หลัก “หลายร้อยล้านบาท” เวลานี้รายรับเป็นศูนย์ แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายดูแลพนักงานเกือบ 1,000 คน
"การเอาตัวรอดต้องพิจารณาเดือนต่อเดือน ด้วยการเร่งหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อไปลดดอกเบี้ยอีกขาหนึ่งที่ใช้ขยายกิจการก่อนหน้านี้"
นอกจากนี้ มีการปั้นแบรนด์หมีวินไฟลุก เพื่อบริการดีลิเวอรี่ รองรับความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงขายกิจการร้านไวน์ ไอ เลิฟ ยู เพื่อหากระแสเงินสดเสริมสภาพคล่อง
“รัฐควรนำโมเดลจากอังกฤษมาใช้ เช่น ให้เงินเยียวยาธุรกิจที่ปิด และกำลังเปิด โดยมีเงื่อนไขต้องจ้างงานไม่ต่ำกว่า 80-90% นอกจากนี้ ช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำต่อลมหายใจให้ร้านขนาดกลางและเล็ก ร้านริมทางซึ่งเดือดร้อนหนักจริงๆ รวมถึงการวางแผนหลังคลายล็อก หากยังมีผู้ติดเชื้อไวรัส อาจเกิดการกักตัวอยู่บ้าน ถึงวันนั้นจะเกิดการขาดแคลนคนทำงานในระบบจำนวนมาก”