รพ.สนาม ทอ. เปิด 28 ก.ค.นี้ รับผู้ป่วยสีเหลือง 100 เตียง
ผบ.ทอ. ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนามบีดีเอ็มเอส สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) ก่อนเปิดให้บริการ 28 ก.ค.นี้
27 ก.ค.2564 พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วย นายแพทย์ ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ร่วมตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนามบีดีเอ็มเอส สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) ก่อนเปิดให้บริการในวันพรุ่งนี้ (28 ก.ค. 64)
โรงพยาบาลสนามดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศ และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS โดยกองทัพอากาศให้การสนับสนุนอาคารสถานที่ เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ และรถพยาบาลฉุกเฉิน
ส่วนทางเอกชน ได้ปรับปรุงพื้นที่ วางระบบโรงพยาบาลสนาม อุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน), มูลนิธิ ทองพูล หวั่งหลี และครอบครัว, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท สหแพทย์เภสัช จำกัด และบริษัท วินบริดจ์ จำกัด
สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมส่งเสริมบริการสุขภาพแล้ว มีจำนวน 100 เตียง ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มสีเหลืองเป็นหลัก ไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง โดยการดูแลของทีมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในเครือ BDMS ซึ่งจะให้บริการเป็นเวลา 2 เดือน โดยจะรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง จากโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามฯ ก็จะถูกส่งตัวไปรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลในเครือ BDMS ต่อไป
ทั้งนี้ นอกจากจะมีระบบอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว BDMS ยังได้นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ มีหุ่นยนต์อัจฉริยะ (เฮลท์ตี้บอท) จำนวน 5 ตัว ที่จะช่วยนำส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลรักษาเพื่อลดการสัมผัสผู้ป่วย โดยทีมแพทย์ที่ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลสนามนี้ จะตรวจและติดตามอาการ รวมทั้งพูดคุยกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดผ่านทางหน้าจอแบบออนไลน์ ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ