หอการค้า 5 ภาค ย้ำ วัคซีนคือคำตอบแก้วิกฤติโควิด
หอการค้าไทย ถก หอการค้า 5 ภาค หาทางออกประเทศ ชี้ วัคซีนเท่านั้นแก้ปัญหาโควิด-19แนะรัฐเร่งคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด พร้อมอัดมาตรการเยียวยาให้ครอบคลุม ขอรัฐเร่งคุมระบาดในกทม.และปริมณฑลให้ได้เร็วที่สุด
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย หลังประชุมร่วมกับ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคทั้ง 5 ภาค เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า สิ่งที่ประธานหอการค้า 5 ภาคเห็นตรงกันคือ ต้องจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนอย่างเพียงพอเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และขอให้ภาครัฐมีมาตรการคัดกรองเข้มข้นเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของประชาชนในการกลับภูมิลำเนา รวมถึงความสามารถของระบบสาธารณสุขที่เริ่มมีจำกัด
โดยนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นว่า ขอให้ภาครัฐมีมาตรการคัดการเดินทางให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันแรงงานภาคอีสานที่ทำงานในกรุงเทพทยอยเดินกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ประกอบกับหลายจังหวัดมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ต้องเฝ้าระวังเรื่องการลักลอบเข้าประเทศ
ด้านนายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานหอการค้าภาคกลาง กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคกลางเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดของประเทศ ดังนั้น หากสามารถจัดให้มีการตรวจเชิงรุกในเขตอุตสาหกรรมก็จะช่วยให้การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นลดน้อยลงได้ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของนายปรัชญา สมะลาภา ประธานหอการค้าภาคตะวันออก ที่มองว่าหากไม่สามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดในเขตโรงงานได้ อาจจะกระทบกับภาคการผลิตและการส่งออกของประเทศในที่สุด และหอการค้าภาคใต้
ขณะที่นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานหอการค้าภาคใต้ กล่าวถึงความสำเร็จเบื้องต้นในการเปิด Phuket Sand Box และสมุย พลัส ถือเป็นต้นแบบและก้าวแรกที่สำคัญในการขยายผลต่อ ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียงจะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อให้การขยายผลโมเดลดังกล่าวช่วยฟื้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่
นายสนั่น กล่าวว่า นอกจากนี้ หอการค้า 5 ภาค ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมจากที่หอการค้าไทย และ 40 CEOs นำเสนอต่อรัฐบาลไว้ โดยเป็นข้อเสนอที่ได้สำรวจความเห็นจากผู้ประกอบการและสมาชิก ซึ่งมี 2 เรื่องสำคัญคือ 1.มาตรการควบคุมการระบาด โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดในตลาด และโรงงาน (คัดกรอง, Bubble & Seal, Factory Isolation) จัดสรรพื้นที่พักคอยสำหรับแรงงานต่างด้าว ที่จะเดินทางกับประเทศ ณ พื้นที่ชายแดน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น การตรวจเชื้อเชิงรุกด้วย Rapid Test Kit เพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อ โดยจัดให้มีการกักตัว Home Isolation และ Community Isolation และสื่อสารแนวทางปฏิบัติแต่ละอย่างให้ชัดเจน
พร้อมขอให้นำงบประมาณการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด (งบฉุกเฉิน) ออกมาใช้แก้ไขสถานการณ์ตามที่จำเป็น อาทิ การจัดตั้งด่านควบคุมคัดกรองระหว่างจังหวัดอย่างเข้มข้น โดยใช้ Antigen test kit คัดกรองเบื้องต้น การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอย รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับภูมิลำเนาที่มีจำนวนผู้ป่วยเกินขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข ควบคุมราคา และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสมุนไพรที่สามารถลดอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ โควิด-19 อย่างทั่วถึง อาทิ ฟ้าทะลายโจร กระชาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ควรมีหน่วยงานภาครัฐให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพร และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกมากขึ้น โดยมีมาตรการดูแลไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาดหรือให้มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ขอให้ภาครัฐมีแนวปฏิบัติให้กับสถานประกอบการทำแผนฉุกเฉิน (กรณีพนักงานในร้านติด COVID-19) เพื่อสามารถบริหารจัดการไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โดยร้านค้าสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดกิจการทั้งหมด
การส่งตัวผู้ป่วยไปยังพื้นที่อื่น ๆ หรือภูมิลำเนา ที่ยังมีความสามารถในการรองรับและดูแลผู้ป่วยได้ ต้องพิจารณาจากความเหมาะสมและอาการความรุนแรงของการติดเชื้อ เพื่อลดปัญหาการดูแลผู้ป่วยได้ไม่ทั่วถึง
2.มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประคองกิจการ และการจ้างงานต่อไปได้ จึงมีข้อเสนอสำคัญ ได้แก่ การเติมทุน, ลดค่าใช้จ่าย (ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าธรรมเนียม, การคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า) การพักชำระหนี้ & พักหนี้ โดยพิจารณาทั้งระยะเวลา จำนวนเงิน และพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมให้เหมาะสม การเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และ SMEs โดยแก้ปัญหาการเข้าถึง และเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อฟื้นฟู Soft Loan และ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ Asset Warehousing พิจารณาจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู SMEs โดยใช้หลักการเดียวกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น SMEs รวมถึง การให้ส่วนลดดอกเบี้ยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับลูกหนี้ที่ยังจ่ายชำระหนี้ปกติให้กับธนาคาร ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในอัตรา 2.5% จากเดิม 3 เดือน เป็น 12 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย และภาษีอื่น ออกไป เนื่องจากอยู่ระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น ยังได้มีการหารือ ในประเด็นการเปิดประเทศ ที่ได้มีการทยอยขยายผลจาก Phuket Sandbox ไปยังพื้นที่อื่น โดยมองว่านี่ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ประเทศไทยยังสามารถคุมสถานการณ์ได้ที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยปัจจุบันชาวภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 4 แสนคน หรือคิดเป็น 87% โดยประมาณของประชากรทั้งหมด และถึงแม้ในระยะแรกจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันให้พื้นที่นี้ปลอดการแพร่ระบาดเพื่อรอการฟื้นตัวของประเทศ
“สิ่งที่สำคัญที่ในขนาดนี้คือต้องควบคุมการแพร่ระบาดในกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล ให้ได้เร็วที่สุดเพราะถือเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงผลักดันให้มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ “นายสนั่น กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินการของทุกมาตรการต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เป็นไปตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการประมวล ติดตามผลของมาตาการอย่างสม่ำเสมอ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน กระชับและมีเอกภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจและเตรียมความพร้อมได้อย่างถูกต้อง โดยหลังจากนี้ทุกภาคส่วนต้องวางแผนการรับมือถึงสถานการณ์ที่อาจจะมีการยกระดับการควบคุมการเดินทางนานกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ ข้อเสนอต่าง ๆ หากรัฐบาลเร่งดำเนินการออกมาจะทำให้การระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลง และจะช่วยพยุงภาคธุรกิจให้เดินหน้าไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายต่อไป