คลังเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จับกุมผู้กระทำผิดแล้ว 9,596 ราย
สศค.รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเดือน มิ.ย.64 ดำเนินการจับกุมเจ้าหนี้ที่ทำผิดกฎหมายแล้ว 9.5 พันราย พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการสินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์ช่วยลูกหนี้จากผลกระทบโควิด-19
นางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้มีหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เข้าร่วมมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบให้กับลูกหนี้ตามความเหมาะสมเพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2564 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 985 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (579 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (161 ราย) ภาคเหนือ (126 ราย) ภาคตะวันออก (67 ราย) และภาคใต้ (52 ราย) ตามลำดับ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 553,974 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 12,698.10 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 22,921.83 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 885 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 847 รายใน 74 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (79 ราย) กรุงเทพมหานคร (67 ราย) และขอนแก่น (51 ราย)
(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 156 รายใน 49 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 138 ราย ใน 45 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (20 ราย) อุดรธานี (9 ราย) อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร (จังหวัดละ 8 ราย)
(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค.2564 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 198,217 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 4,233.97 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 27,432 ญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 627.87 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.83 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 32,440 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 748.27 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.67 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายซึ่งนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2559 จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,596 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.2564 จำนวน 244 ราย
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน1599
- ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
- ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.)