‘ดัชนีความเชื่อมั่น’ เศรษฐกิจภูมิภาค ก.ค.64 ปรับตัวลดลง
"ดัชนีความเชื่อมั่น" เศรษฐกิจภูมิภาค เดือนก.ค. 2564 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกภูมิภาคเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือยังมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงาน "ดัชนีความเชื่อมั่น" อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำ เดือนกรกฎาคม 2564 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า “ดัชนี RSI เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกภูมิภาค เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) อย่างไรก็ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ยังมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต”
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 57.6
แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นข้าวนาปีอ้อยโรงงานและมันสำปะหลัง ประกอบกับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับภาคอุตสาหกรรมคาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 56.1
แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกันโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ส่งผลให้มีแนวโน้มผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ ยังมีความต้องการสินค้าเกษตรจากตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นตามการส่งออกของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 51.7
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรรม เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ลำไย และน้อยหน่า เป็นต้นสำหรับภาคอุตสาหกรรม คาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 46.8
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร เนื่องจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น มังคุด และทุเรียน เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ 41.7
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรซึ่งยังมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว และคาดว่าจะมีความต้องการสินค้าเกษตรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ 40.2
สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการลงทุนและการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องลดปริมาณการผลิต และลดชั่วโมงการทำงานลงใน
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ระดับ 37.7
สะท้อนภาวะอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่นกันโดยเฉพาะในภาคการลงทุน ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนลง