อย่าหลงเชื่อ! แร่ธาตุคอลลอยด์ อ้างรักษา 'โควิด-19' เป็นเฟคนิวส์

อย่าหลงเชื่อ! แร่ธาตุคอลลอยด์ อ้างรักษา 'โควิด-19' เป็นเฟคนิวส์

ในต่างประเทศ Colloidal Silver หรือ แร่ธาตุคอลลอยด์ ถูกอ้างว่ารักษา "โควิด-19" ได้ แต่อย่าหลงเชื่อ! เพราะข้อมูลนี้เป็นเท็จ แล้วแร่ธาตุคอลลอยด์คืออะไรกันแน่? ชวนหาคำตอบไปพร้อมกัน

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ "โควิด-19" ระบาดใหม่ๆ ช่วงนั้นมีกระแสการรักษาโควิดแบบแปลกๆ ออกมาโฆษณาชวนเชื่อเพียบ! โดยเฉพาะในต่างประเทศทางแถบยุโรปและอเมริกา หนึ่งในข่าวปลอมที่เป็นกระแสมาแรงในช่วงนั้น คือมีการแชร์ว่า "แร่ธาตุคอลลอย" หรือ Colloidal Silver สามารถรักษาโควิด-19 ได้

แต่ต่อมาก็มีการยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า ไม่จริง! 

นี่เป็นเหตุการณ์ที่เราอยากพาคุณย้อนกลับไปดูอีกครั้ง เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักว่า ในยามบ้านเมืองเจอวิกฤติโควิดระบาดหนักขณะนี้ อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมเกี่ยวกับวิธีรักษาโควิดแบบแปลกๆ แต่ต้องยึดวิธีป้องกันตัวเองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก

ว่าแต่.. "แร่ธาตุคอลลอย" หรือ Colloidal Silver คืออะไร? เราชวนมารู้ลึกเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

1. ข้อมูลเท็จ : แร่ธาตุคอลลอย

ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มีข้อมูลเท็จปล่อยออกมาว่า Colloidal Silver หรือผลิตภัณฑ์จากแร่ธาตุคอลลอยด์ สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาได้หลายสายพันธุ์ ช่วยฆ่าเชื้อไวรัส ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง สามารถรักษาภาวะต่างๆ ได้ เช่น มะเร็ง เบาหวาน ข้ออักเสบ ฯลฯ

โดยแนวคิดนี้ถูกแชร์ต่อกันในกรุ๊ป Medical Freedom เป็นกลุ่มในเฟซบุ๊คที่มีการแชร์วิธีการรักษาโรคแบบอื่นนอกจากแพทย์กระแสหลัก นอกจากนี้ยังมีการโปรโมทผ่านรายการของ Jim Bakker ครูสอนศาสนาผ่านโทรทัศน์ โดยผู้ที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเกี่ยวกับแร่ธาตุคอลลอยด์ เคลมว่าสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ภายใน 12 ชั่วโมง แม้ว่าจะไม่มีการรับรองความปลอดภัย

2. ข้อมูลจริง : แร่ธาตุคอลลอย

Dr. Helene Langevin ผู้เชี่ยวชาญของ National Center for Complementary and Integrative Health หรือ NCCIH เปิดเผยว่า Colloidal Silver จัดเป็นแร่ธาตุที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย (ไม่เหมือนกับแร่ธาตุ Zinc หรือ ธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกาย)

ยังไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวไหนที่สามารถรักษาไวรัสโควิด-19 ได้โดยตรง และแร่ธาตุคอลลอยด์ก ก็เป็นแร่ธาตุที่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดทางวิทยาศาสตร์ ในการระบุถึงประโยชน์ที่มีต่อร่างกาย รวมถึงสรรพคุณในการต่อต้านโรค

3. มีการผลิตอาหารเสริมจากแร่คอลลอย

สมัยก่อนมีผลิตภัณฑ์ยาแร่ธาตุคอลลอยด์มีขายอยู่มากมายตามร้านขายยา ต่อมาสรรพคุณของแร่ธาตุตัวนี้ยังไม่มีการรับรองทางวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแร่ธาตุชนิดนี้ถูกงดจำหน่าย แต่ก็ยังมีจำหน่ายในรูปแบบอาหารเสริมอยู่

4. การใช้แร่ธาตุคอลลอยด์ ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง!

การใช้แร่ธาตุคอลลอยด์ ไม่ว่าจะรับประทาน ทาบนผิว หรือฉีดเข้ากระแสเลือด ถือว่าไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง เพราะสารตัวนี้จะเข้าไปสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ตับ ไต กล้ามเนื้อ และสมอง

อาจทำให้เกิดภาวะ Argyria หรือโรคผิวสีน้ำเงิน ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับสารประกอบจำพวกเงินปริมาณมากๆ ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีฟ้าแบบที่ไม่สามารถแก้ไขได้

5. ผลเสียอื่นๆ ที่กระทบกับสุขภาพ

นอกจากนี้ การได้รับคอลลอยด์มากๆ ยังกระตุ้นการผลิตเมลานินบนผิวทำให้สีผิวคล้ำขึ้น โดยผิวหนังบริเวณที่ถูกแสงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เมื่อเข้าไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะ และยังมีข้างเคียงอื่นๆ อีก เช่น ทำให้ไตเกิดความเสียหาย หรือทำให้เกิดอาการชัก ในผู้หญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลกับเด็กที่อยู่ในครรภ์ได้

------------------------

อ้างอิง :   

bbc 

apnews

springnews