เผยเบื้องลึก! 'กลุ่มป่าแก่งกระจาน' ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
กว่า 7 ปีที่รอคอย การทำงานเบื้องหลังที่ไม่เคยมีใครรู้ กับสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผลักดันให้ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการและใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องและแข็งขัน ตลอด 7 ปีที่ผ่าน กว่าจะประสบผลสำเร็จดังกล่าว โดยเฉพาะล่าสุดในการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 (WHC 44) ของคณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ อย่างต่อเนื่องทุกวัน กว่า 2 สัปดาห์ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างวันที่ 16 – 31 กรกฎาคม 2564
ที่ประชุม WHC 44 ได้พิจารณาการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมแหล่งใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 34 แหล่ง พิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์ (SoC) จำนวน 256 แหล่ง และรับรองข้อตัดสินใจ จำนวน 332 ข้อ
เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2564 วาระการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน (KKFC) ได้รับการพิจารณา และที่ประชุม WHC 44 มีมติเห็นชอบขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Values – OUV) ของผืนป่ากลุ่มป่าแก่งกระจาน และเล็งเห็นความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความพยายามผลักดันการขึ้นทะเบียนอย่างต่อเนื่องและแข็งขันในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการปฏิบัติตามข้อมติและข้อแนะนำของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกอย่างครบถ้วน ได้แก่ การส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขึ้นทะเบียน และการปรับขอบเขตพื้นที่นำเสนอตามที่หารือกับเมียนมา
นอกเหนือจากความสำเร็จในครั้งนี้แล้ว ที่ประชุม WHC 44 ยังมีมติเลือกไทยเป็นหนึ่งในรองประธานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 45 (WHC 45) ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานของรัสเซีย โดยการประชุม WHC 45 จะจัดขึ้น ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ซึ่งถือเป็นเกียรติยศและความมั่นใจที่ไทยได้รับจากเวทีการประชุมระดับชาติอีกด้วย
กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ ขอขอบคุณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถานเอกอัครราชทูตไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนไทยในคณะกรรมการมรดกโลก ที่ทำงานอย่างแข็งขัน "ในการหาเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก 20 ประเทศ"
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ได้มีการจัดการดูแลความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เป็นอย่างดี และทุกคนก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการทุกอย่างตามคำแนะนำที่ไอยูซีเอ็น และประเทศอื่นๆ ที่แสดงความเป็นห่วงติติง จากการประชุมครั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างดีแล้ว
หลังจากนั้น ก็มีผู้แทนจากประเทศ อียิป เอธิโอเปีย และประเทศโอมานขึ้นกล่าวสนับสนับสนุนให้ป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยผู้แทนจากประเทศโอมานระบุว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ของโลกที่มีการจัดการพื้นที่ป่าเป็นอย่างดี และมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีพืชและสัตว์ป่าที่มีความสำคัญมากกว่า 700 ชนิด
สื่อต่างประเทศ รายงานว่า ประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ ที่สนับสนุนให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย สเปน ออสเตรเลีย มาลี บราซิล ไนจีเรีย เมียนมา และกัวเตมาลา
อย่างไรก็ตาม ทีมประเทศไทยต้องขอขอบคุณมิตรประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกที่ให้การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานของไทย
นายธานี กล่าวย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศยืนยันความมุ่งมั่นของไทย ที่จะทำงานร่วมกับศูนย์มรดกโลกในการดูแลรักษาแหล่งมรดกโลก และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารและอนุรักษ์พื้นที่ พร้อมทั้งพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ต่อไป ตลอดจนมุ่งส่งเสริมแนวคิด “Sustainability of Things” หรือการปรับกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตให้มีความยั่งยืนมากขึ้น เสริมสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และส่งเสริมความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ