ทัวริสต์ปีนี้ต่ำเป้า! เหลือ 5-7 แสนคน ลุ้น ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ลุยเต็มสูบไฮซีซั่น
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังคงมี “ความหวัง” ว่าโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เปิดเมืองภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมาเที่ยวแบบไม่กักตัว จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย
ท่ามกลางสถานการณ์ผู้ติดเชื้อใหม่ภายในประเทศพุ่งสูงต่อเนื่อง จนศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ออกประกาศขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 13 จังหวัด เพิ่มเป็น 29 จังหวัด และล็อกดาวน์ต่ออีก 14 วัน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เล็งยืดมาตรการถึง 31 ส.ค.นี้
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า วานนี้ (2 ส.ค.) กระทรวงฯได้ประชุมร่วมกับ ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยทางจังหวัดภูเก็ตได้ย้ำถึงการยกระดับมาตรการคัดกรองคนเข้าพื้นที่ตามประกาศฉบับล่าสุด มีผลตั้งแต่วันที่ 3-16 ส.ค.นี้ เพื่อเคลียร์บ้านให้สะอาด ล้างโควิด-19 ออกให้หมดจากภูเก็ต ตั้งเป้าเคลียร์ให้จบภายใน 14 วันดังกล่าว
“ยังมีความหวังว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเป็นโครงการหลักช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย”
แม้ดูแนวโน้มแล้วเป็นเรื่องยากที่จะได้นักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ตามเป้าหมาย 1 แสนคนในไตรมาส 3 ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.นี้ เนื่องจากแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมีจำนวนสูงต่อเนื่องในเดือน ส.ค.นี้ แม้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะพยายามประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมองภูเก็ตแยกจากประเทศไทย แต่ก็สร้างความเข้าใจได้ยาก ยอดผู้ติดเชื้อในไทยที่พุ่งสูงยังกระทบต่อการตัดสินใจมาเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อยู่ดี! เห็นได้จากยอดจองห้องพักโรงแรมในภูเก็ตช่วงเดือน ส.ค.เริ่มแผ่วลงมาก โดยคาดว่าเดือน ส.ค.น่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่เกิน 15,000 คนจากที่ตั้งเป้าไว้ 40,000 คน ส่วนเดือน ก.ค.มียอดรวม 14,055 คน
“อย่างไรก็ตาม ยังคงตั้งความหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มากขึ้นในไตรมาส 4”
ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะโยกการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมระดับนานาชาติจากกรุงเทพฯมาจัดที่ภูเก็ตแทน หากไม่สามารถจัดที่กรุงเทพฯได้ เช่น การแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ การแข่งขันรักบี้ 7 คนชิงแชมป์เอเชีย การแข่งขันกอล์ฟและอี-สปอร์ตอื่นๆ ขณะเดียวกันจะมีการจัดงานรำลึกสึนามิในปลายเดือน ธ.ค.เพื่อดึงชาวสแกนดิเนเวียนมาร่วมงานอีกด้วย”
ด้านโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วมาเที่ยวพื้นที่นำร่องเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ยืนยันว่าไม่ได้มีการชะลอหรือยุติโครงการฯ ยังคงเดินหน้ารับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตามปกติ แต่ก่อนหน้านี้ก็ประเมินไว้แล้วว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมามากนัก เพราะมีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ต้องต่อเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิมาสมุยอีกที จึงได้มีการปรับแผนดึงนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เข้าสมุยและพื้นที่นำร่องอื่นๆ ด้วยสูตร 7+7 ก็ต้องแตะเบรกชะลอไว้ก่อน!
“โครงการเที่ยวข้ามเกาะสูตร 7+7 กระจายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสและมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 2 แล้วผลเป็นลบ ให้สามารถเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อพำนักครบ 7 คืนแรก ไปยังพื้นที่นำร่องอื่นๆ อีก 3 พื้นที่ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า), จ.กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) และ จ.พังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) โดยต้องพำนักอีกอย่างน้อย 7 คืนหลัง ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในไทยนั้น เดิมวางกำหนดเริ่มวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่จำเป็นต้องชะลอออกไปก่อน เพราะภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี ถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีส้ม) ทั้ง 4 จังหวัด ยังต้องติดตามยอดผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด”
พิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากคุมสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศจบภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้ประเมินยากมาก ไม่มีอะไรจับต้องได้! หากลากยาวไปถึงไตรมาส 4 จะกระทบต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่องอื่นๆ ที่เหลือ อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี บุรีรัมย์ และกรุงเทพฯตามแผนเดิม ไม่สามารถเปิดได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ อาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 2564 เข้ามาเที่ยวไทยแค่ 5-7 แสนคนเท่านั้น! สอดรับกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินไว้ โดยต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯเคยตั้งไว้ที่ 3 ล้านคนจากการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติครบ 10 จังหวัดนำร่องตามไทม์ไลน์ภายในเดือน ต.ค.นี้
ส่วนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ หากโควิด-19 ยังระบาดหนักอยู่แบบนี้ ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้คนไทยเที่ยวในประเทศได้ จนกว่าผู้ติดเชื้อจะเบาบางลง ทำให้เป้าหมายไทยเที่ยวไทยต้องปรับลดลงจาก 100 ล้านคน-ครั้งเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยว 6 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยสะสม 24.58 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 15.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีรายได้สะสม 128,000 ล้านบาท ลดลง 38.45% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 6 เดือนแรก ก่อนเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อ 1 ก.ค. มีจำนวน 40,447 คน ลดลง 99.40% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ตรวจลงตราประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) นักท่องเที่ยวสมาชิกไทยแลนด์พริวิเลจการ์ด (อีลิท การ์ด) กลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มที่เข้ามารับการรักษาโรคและมีความจำเป็นต้องพำนักระยะยาว ส่วนค่าใช้จ่ายของชาวต่างชาติดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการรวบรวมและประมวลผล
“และจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยไปหาพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อ เพื่อทำเป็นพื้นที่สีฟ้า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็จะต่อยอดนำพื้นที่สีฟ้ามาพิจารณาประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้คนท่องเที่ยวได้ เช่น จ.น่าน, อ.เชียงคาน จ.เลย อาจจะส่งเสริมคนไทยไปเที่ยวก่อน และพื้นที่ใดที่ต่างชาติรู้จักก็จะส่งเสริมด้วย เช่น เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล จ.กระบี่ โดยในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตก็จะประกาศด้วยว่าพื้นที่ใดในภูเก็ตเป็นพื้นที่สีฟ้าบ้าง”