ส่องแผนบริหารเตียง'โควิด19'ในต่างจังหวัด รับผู้ป่วย 2 เด้ง

ส่องแผนบริหารเตียง'โควิด19'ในต่างจังหวัด รับผู้ป่วย 2 เด้ง

สธ.เผยอัตราครองเตียงต่างจังหวัดอยู่ที่ 73 % มีเตียงว่างอีกราว 4 หมื่นเตียง บางจังหวัดปรับบางรพ.เป็นรพ.โควิด19 โดยเฉพาะ รพ.ศูนย์ขยายเตียงไอซียูรองรับจาก 7 เป็น 50 เตียง 

 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ของกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์เตียงทั่วประเทศ ภาพรวมทุกเขตสุขภาพ 12 เขตยกเว้นกรุงเทพมหานคร(กทม.)  (ณ 4 สิงหาคม 2564 ) รวมมีเตียง 156,189 เตียง ปัจจุบันใช้ไป 114,786 เตียง คิดเป็น 73.49% เตียงว่าง 41,185 เตียง หากถามว่าจะขยายเพิ่มได้หรือไม่ ต้องขออนุญาตจำแนกเตียงเป็น 3 กลุ่มคล้ายกับอาการผู้ป่วย คือ เตียงสีเขียว พบว่า เขตสุขภาพที่ 1 มีการครองเตียงราว 52%เขตสุขภาพที่ 2 ราว 62% เขตสุขภาพที่ 3  ราว 70% เขตสุขภาพที่ 4,5,6 ประมาณ 80% เขตสุขภาพที่7 ราว 85% เขตสุขภาพที่ 8 ราว 73 % เขตสุขภาพที่9 ราว 74% เขตสุขภาพที่ 10 ราว 71% เขตสุขภาพที่ 11 ราว 62%  และเขตสุขภาพที่ 12 ราว 74% ซึ่งหากเป็นเตียงสีเขียวไม่ค่อยยากเพราะมีโอกาสจัดการได้ เช่น การแยกกักที่บ้าน หรือในชุมชน รพ.สนาม

  

ส่วนเตียงสีเหลือง มีความยากขึ้นแต่จะใช้วิธีการบริหาร รพ.ที่มีในพื้นที่ รวมถึง รพ.ชุมชนที่มีกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ตรงนี้บางจังหวัดจะมี รพ. โควิด19 โดยเฉพาะ ส่วนผู้ป่วยอื่นก็จะให้ไปที่รพ.ใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้มีเตียงสีเหลืองเพิ่มพร้อมกันหลายร้อยเตี ความยากอยู่ที่เตียงสีแดง ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเครื่องให้ออกซิเจน เพราะโดยปกติแล้วจะมีผู้ป่วยหนักที่อยู่ใน ICU ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค 63 มีผู้ป่วยติดเชื้อน้อย ทำให้รพ.ต่างๆ ได้เตรียมพัฒนาตนเอง จากที่มีห้องแยกความดันลบ หรือเตียง ICU จำกัดก็มีการเพิ่มขึ้นมา เช่น รพ.ศูนย์หลายแห่งจากที่มีเตียง 7-8 เตียงก็เพิ่มเป็น 50 เตียง

        "ปัจจุบันยังมีความสามารถในการจัดการเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่เตียงสีแดงภาพรวมทั้งหมดอัตราครองเตียงอยู่ที่ 75% ยังมีเหลืออยู่บ้างพันกว่าเตียงในภาพรวม แต่บางเขตสุขภาพอาจเหลือไม่เยอะ เช่น บางเขตสุขภาพเหลือเพียง 20-100 เตียง แต่ทาง สธ. มีแนวทางนโยบาย การส่งผู้ป่วยข้ามเขตสุขภาพ โดยเราคาดว่าอีก 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนหน้า จะเป็นช่วงพีคของผู้ป่วยที่เราส่งกลับไป" นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า  บุคลากรทางการแพทย์ ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 เป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากในช่วงปกติก็มีไม่มาก มีปริ่มๆ ภาระงานของบุคลากรที่มีมากอยู่แล้ว แต่ช่วงโควิด19 ก็จะเพิ่มสูงขึ้น ช่วงนี้ยังพอรับได้ แต่มีความเหนื่อยล้าเพราะมีความต่อเนื่องยาวนาน ขณะนี้เกือบครบ 2 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าลดลง รวมถึงส่งทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรจากต่างจังหวัด เข้ามาช่วยงานในส่วนกลางด้วย และในแต่ละจังหวัดของตัวเองก็มีผู้ป่วยกลับไปอีกเกือบแสนราย จึงเป็นภาระที่ซ้อนกันสองส่วน แต่ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชนให้รอดปลอดภัย

    "ผู้บริหารและรัฐบาลก็ได้ดูแลขวัญกำลังใจ ให้มีกำลังใจทำงาน แต่เป็นช่วงวิกฤต ไม่ใช่ช่วงที่จะสบาย หรือไปทำงานโดยไม่มีปัญหา ซึ่งมีความเหนื่อยล้า หลายคนเริ่มมีปัญหาอยู่บ้างแต่โดยระบบมีแผนเตรียมการจากกรมสุขภาพจิต วางแผนว่าผู้บริหารฯ ควรจะทำอย่างไร ต้องมีระบบในการเป็นบัดดี้อย่างไรในการดูแลและทำงานร่วมกัน เพื่อสามารถเดินหน้าในภาวะวิกฤตนี้ให้ผ่านไปได้" นพ.ธงชัย กล่าว