สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 2-6 สิงหาคม 2564

สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 2-6 สิงหาคม 2564

ราคาสินค้าเกษตรสัปดาห์นี้ ข้าวโพดและข้าวลดลง ปลาป่นเพิ่มขึ้น

ข้าวโพด : ราคาลดลง

            เนื่องจากเริ่มมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ปรับตัวอ่อนลง จากหาบละ 633 บาท เป็นหาบละ 627 บาท

           ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกันยายน 2564 ราคาอยู่ที่ 545.75 เซนต์/บุชเชล ราคาทรงตัว แม้ว่ากระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จะรายงานคุณภาพข้าวโพดที่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากที่ 62% ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่สภาพอากาศที่เย็นลงในสัปดาห์นี้ ทำให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องความแห้งแล้งได้บ้างเล็กน้อย ด้านบริษัท Soybean & Corn Advisory ประเมินผลผลิตข้าวโพดอยู่ที่ 84 ล้านตัน ต่ำกว่าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประเมินไว้ที่ 93 ล้านตัน จากความแห้งแล้งและการเพาะปลูกที่ล่าช้า ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวโพดในประเทศบราซิลอาจได้รับความเสียหายเพิ่มเติม

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง

 

ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว

            กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 18.60 บาท แม้ว่าการซื้อขายในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีค่อนข้างน้อย แต่เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางแห่งเริ่มมีความแห้งแล้ง ทำให้มีความกังวลต่อผลผลิตฤดูกาลใหม่ที่อาจจะปรับตัวลดลงจากที่คาดการณ์ได้ ขณะที่ค่าระวางเรือทั่วโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง 

            ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 1,403.50 เซนต์/บุชเชล และกากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 353.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ช็อตตัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานคุณภาพถั่วเหลืองอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 60% 

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว

 

ปลาป่น : ราคาเพิ่มขึ้น

            การจับปลาของประเทศเปรู ฤดูกาลแรกของปีนี้เสร็จสิ้นแล้ว สามารถจับปลาได้ 97% ของโควต้า ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นฤดูกาล สำหรับฤดูกาลถัดไปคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ซื้อหลัก ยังคงมีการซื้อที่ปรับตัวสูงขึ้น    ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมปรับราคาขึ้น 1.50 บาท ยกเว้นปลาป่นเกรดกุ้งที่ยังคงทรงตัว

          โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 48.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 41.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 42.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 38.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 40.20 บาท ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 38.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 39.70 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 35.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 37.20 บาท

           แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว

 

ข้าว : ราคาลดลง

            สัปดาห์นี้ ราคาซื้อขายข้าวต่างประเทศเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดย ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 357 ดอลลาร์สหรัฐฯ

           ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ยืนราคาที่กระสอบละ 1,230 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาลดลงจากกระสอบละ 1,090 บาท เป็นกระสอบละ 1,040 บาท

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว

 

สุกร : ราคาทรงตัว

            สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 68-78 บาท โดยกลุ่มผู้เลี้ยง และสมาคมภูมิภาคต่างๆ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีมติเห็นควรให้ยืนราคาสุกรขุนต่อไป

            ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,200 บาท (บวก/ลบ 68)

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว

 

ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว

            สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ประกาศราคาแนะนำไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท  ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 7.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะยืนอ่อน

 

ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว

            มาตรการของภาครัฐที่เพิ่มความเข้มงวดให้ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด อีกทั้งมาตรการงดรับประทานอาหารที่ร้าน รวมไปถึงโครงการบริจาคอาหารให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้ขณะนี้มีความต้องการบริโภคไข่ไก่ในปริมาณที่สูง ประกอบกับการขนส่งถูกจำกัดเวลา ทำให้บางพื้นที่ไข่ไก่มีจำนวนจำกัด อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ยังคงตรึงราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ที่ฟองละ 3.00 บาท

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะยืนแข็ง

--------------------------------------

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ : 02-766-7343-5
E-mail : [email protected]