'ศุภชัย' โวยกมธ.แก้รธน.ซีกปชป.แปรญัตติเพิ่มข้อความ ส่อขัดกฎหมาย
“ศุภชัย” โวยกมธ.แก้รธน.ซีกปชป.แปรญัตติ เพิ่มข้อความเกินกว่าที่เสนอแก้ไข ชี้ส่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย้ำจุดยืนภท.ไม่เอาด้วยตั้งแต่แรก
ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่… พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) แถลงว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของคณะกมธ.ฯ เพราะไม่น่าจะเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสงวนความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะกมธ.ฯ เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ และคณะเสนอแก้ไขมาตรา 83 และ 91 ซึ่งเป็นร่างเดียวที่ที่ประชุมรัฐสภารับร่าง หมายความว่าไม่รับร่างอื่น นั่นคือเจตนารมณ์ของรัฐสภา ณ วันนั้น ที่ไม่ประสงค์แก้ไขมาตราอื่น
แต่ปรากฎว่าการพิจารณาของคณะกมธ.ฯ มีเหตุการณ์ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนอย่างมากมาย คือ การเสนอความเห็น และแปรญัตติ ซึ่งตนคิดว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ข้อที่ 124 เพราะในการพิจารณาปรากฎว่ามีกมธ. ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมความ และมาตราเพิ่มเติมขึ้นมา มีการหยิบเอาถ้อยคำ ข้อความ และมาตรา ที่อยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐสภาไม่ได้รับหลักการนั้น และร่างได้ตกไปแล้ว มาหยิบใส่ในร่างนี้เพื่อพิจารณาด้วย
นอกจากนี้ นายจุรินทร์ซึ่งเป็นคนเสนอร่างให้แก้เฉพาะมาตรา 83 และ 91 ยังได้แปรญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม โดยหยิบเอาความที่ไม่ปรากฎเข้ามาแปรญัตติเพิ่มเติม ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นในสถาบันนิติบัญญัติ
“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือสมาชิกผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ท่านไม่ได้ทำในสิ่งที่เรียกว่านิติวิธี และยังทำผิดหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเป็นการกระทำโดยมิชอบ ผมไม่สนใจว่าระบบเลือกตั้งจะเป็นบัตรกี่ใบ แต่วันนี้สถาบันแห่งนี้จะต้องดำรงไว้ตลอดไป เราไม่ควรเอาความประสงค์ของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นตัวตั้ง แล้วเอาสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองเอง สิ่งนี้พรรคภูมิใจไทยปฏิเสธตลอด ว่าเราไม่ควรแก้เรื่องระบบเลือกตั้งกันในห้วงเวลานี้ เพราะเป็นประโยชน์ของพรรคการเมือง แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน และกระบวนการวิธีก็ไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย สุ่มเสี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดประมวลจริยธรรมร้ายแรงของสมาชิกทั้ง ส.ส. และส.ว.” นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 256 (8) ว่าถ้ามีการแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ศาลหรือองค์กรอิสระ จะต้องดำเนินการให้ลงประชามติก่อน เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า การพิจารณาของกมธ.มีประเด็นที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้งส.ส. เหมือนเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตรงนี้เป็นการกำหนดเกินอำนาจหน้าที่กกต.ที่มีอยู่ แต่กมธ.ไม่ได้มีการคำนึงถึงเรื่องนี้ ในที่สุดจะเป็นประเด็นที่มีผลกระทบเรื่องอำนาจกกต.
อีกประเด็นคือในการพิจารณของกมธ. กำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยไม่ได้กำหนดให้ใครเป็นหน่วนงานที่รับชอบ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 131 และ 132 ต้องกำหนดชัดเจนว่าเป็นใคร เช่น คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ องค์กรอิสระ แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆทั้งสิ้น ตนก็จะแสดงจุดยืนว่า การดำเนินการใดของคณะกมธ.ชุดนี้ ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ถ้าพิจารณาแล้วเสร็จและส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตนคิดว่าจะกลายเป็นมลทินต่อรัฐสภาแห่งนี้ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยประโยชน์ ตนไม่อยากให้มีบรรยากาศพวกมากลากไป วันนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอว่าอยากแก้มาตรา 83 และ 91 แปลว่าท่านไม่ประสงค์แก้มาตราอื่น ตนไม่อยากให้เรื่องนี้ผ่านเลยไป และเรื่องนี้กว่าจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่สุดแล้วอาจต้องให้ศาลรัฐธรมนูญวินิจฉัย ซึ่งตนไม่อยากร่วมกระบวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้
เมื่อถามว่า จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องนี้หรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะกฎหมายเมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว สมาชิกมีสิทธิ์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญก่อนนำทูลเกล้าฯ แต่ระหว่างนี้หากมีประเด็นเรื่องข้อบังคับ ก็สามารถยื่นให้สภาวินิจฉัยก่อนตามมาตรา 151 เพียงแต่วันนี้ตนอยากแถลงให้ทราบถึงสถานะที่กำลังเกิดขึ้น
เมื่อถามว่า หากเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 จะยื่นให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยหรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า ตนในฐานะกมธ.ก็คงจะอภิปราย แต่ตนเชื่อว่าทั้ง ส.ส. และส.ว. จะเคารพกฎหมาย และหลักการของรัฐสภา ว่าถ้าได้ฟังเรื่องนี้แล้วจะลงมติอย่างไร ท่านเลือกร่างของพรรคประชาธิปัตย์มา แปลว่าวันนี้ท่านกำลังจะไปพิจารณาร่างของพรรคประชาธิปัตย์อีกแบบหนึ่ง ที่กำลังเอาร่างที่ท่านไม่รับมาสอดเสียบเข้าไป ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง และตนคิดว่าส.ว. ก็ได้ศึกษาเรื่องนี้ และพิจารณาว่าเหตุใดจึงโดยแปลงร่างมา ยกเว้นว่าท่านคิดว่าไม่ผิดข้อบังคับก็ว่ากันไป แต่ส่วนตัวคิดว่าผิดข้อบังคับแน่นอน
เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยจะโหวตอย่างไร นายศุภชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้คุยกัน แต่ที่ผ่านมาในวาระแรก พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียงในร่างนี้ เพราะสถานการณ์ไม่เหมาะสมที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง วันนี้จุดยืนของเรายังเหมือนเดิมคือไม่เห็นด้วยในแง่ของกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม