ก.ล.ต.เผย 4 กองทุน เลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้าง
ก.ล.ต เผยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครึ่งแรกปี 64 มีตั้ง 2 กองทุนใหม่ กลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ - เงินติดล้อ และ 4 กองทุน เลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้าง ทั้งระบบมี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.22% จากสิ้นปีก่อน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้างบนราชกิจจานุเบกษา ไปแล้วนั้น
ทั้งนี้ การเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้าง ทางก.ล.ต. พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พร้อมสถิติ PVD ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 มี PVD ที่จัดตั้งกองใหม่จำนวน 2 กอง ได้แก่
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน กลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน บมจ.เงินติดล้อ มาสเตอร์ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
และจดเลิกเพื่อโอนย้ายไปยังกองแบบ master pooled fund (แบบที่มีหลายนายจ้างและหลายนโยบายการลงทุน) จากเดิมเป็นกองแบบ single fund ที่มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว จำนวน 4 กอง ได้แก่
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท ทีบีเอสพี จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สินพัฒนา ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน บลจ.ทิสโก้ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไทยพาณิชย์เพิ่มผล 2 ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
การโอนย้ายไปนั้น เป็นไปตามความประสงค์ของนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างสมาชิก PVD มีทางเลือกมากขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกองทุน
ทั้งนี้ เรื่องการออกประกาศการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้าง เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียน PVD ตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จะรวบรวมและนำมาประกาศปีละ 2 ครั้ง (กลางปี กับสิ้นปี) โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับข้อมูลสถิติของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ มิ.ย. 2564 มีจำนวนนายจ้าง และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีจำนวนนายจ้าง 20,612 แห่ง เพิ่มขึ้น 680 แห่ง หรือ 3.41% จากสิ้นปี 2563 ที่มีอยู่ 19,932 แห่ง และมีสมาชิก 2,883,443 คน ลดลง 42,391 คน หรือ -1.45% จากสิ้นปี 2563 ที่มีอยู่ 2,925,834 คน
ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,301,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52,712 ล้านบาท หรือ 4.22% จากสิ้นปี 2563 ที่มีอยู่ 1,248,314 ล้านบาท และมีกองทุน 366 กอง ลดลง 2 กอง หรือ -0.54% จากสิ้นปี 2563 ที่มีอยู่ 368 กอง (โดยนายจ้างยกเลิกกองเพื่อโอนย้ายไปเข้า master pooled fund 4 กองทุน และมีการจัดตั้งใหม่ 2 กองทุน)