ก้าวไกล จ่อชงสภาฯชี้ขาดแก้รธน.เกินหลักการ เหน็บ 'พปชร.-เพื่อไทย' พรรคเอื้ออาทร
ก้าวไกล จ่อยื่นญัตติด่วน ชงสภาฯชี้ขาดปมแก้รธน.เกินหลักการ เหน็บ "พปชร.-เพื่อไทย" เอื้ออาทร-ตีความเกินเลย
นายธีรัจชัย พันธุมาศ และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่. … พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือก) รัฐสภา แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายธีรัจชัย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ยังเป็นอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และไม่ได้เป็นการแก้ไขเรื่องการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งเพียง 2 มาตราเท่านั้น
ซึ่งมีการโต้เถียงตลอดการพิจารณาเสมอ ว่ากรณีแบบนี้จะพิจารณามาตราอื่นได้หรือไม่ เพราะตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 หลักการในการแก้ไขต้องเป็นไปโดยชัดแจ้ง ดังนั้น ความชัดแจ้งของเรื่องนี้ คือ แก้ไขมาตรา 83 จำนวน ส.ส. และ มาตรา 91 เรื่องการคำนวณคะแนน
นอกจากนี้ ยังมีการจะตีความแก้ไขเกินเลยไปหลายมาตรา โดยเฉพาะการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกข้อกำหนดเองได้ เหมือนเป็นการมอบอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติให้กกต. ถามว่าเป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่ อีกทั้งยังมีการแก้ไข มาตรา 85 86 92 93 และ 94 ถามว่าเหล่านี้เป็นการแก้ไขเกินหลักการหรือไม่ อาศัยเสียงข้างมากตีความตามอำเภอใจหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ระบุว่า รัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมาย และหลักนิติธรรม
แต่รัฐธรรมนูญฉบบนี้พยายามตีความให้เกินเลย แปลงร่างให้เอาร่างของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ที่ถูกตีตกไปแล้วตั้งแต่ชั้นรับหลักการวาระแรกมาใส่ให้ได้ และทั้ง 2 พรรค ค่อนข้างเอื้ออาทร กระหนุงกระหนิงช่วยเหลือกันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่าจะตีความตามอำเภอใจไมได้ แต่ต้องตีความตามหลักนิติธรรม
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนเราจึงได้พิจารณาแล้วว่าในวันนี้ (13 ส.ค.) จะยื่นให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง ว่าการแก้ไขเกินเลยแบบนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยยื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 เพื่อให้เป็นบรรจุเป็นญัตติก่อนการพิจารณารัฐธรรมนูญในวาระ 2 - 3
ด้าน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เหลือเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นแบบนี้ เราเห็นความพยายามสอดไส้การแก้กฎหมายมาหลายครั้ง แต่ทำไมครั้งนี้ยังกล้าทำอีก รัฐสภารับหลักการมาแก้ไขเพียง 2 มาตรา แต่ในชั้นกมธ. กลับแก้ไข 6 มาตรา และเพิ่มมาอีก 2 มาตรา เราส.ส.หน้าใหม่เกิดความสงสัยทันทีว่าหลักการวาระที่ 1 ที่ให้แก้ 2 มาตรา ไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่ แต่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดใช่หรือไม่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเสี่ยงว่าจะผิดรัฐธรรมนูญอย่างไร เรารู้สึกผิดหวัง และเชื่อว่าการแก้ไขแบบนี้ไม่ช่วยนำพาประเทศออกสู่วิกฤตทางการเมืองได้ พรรคก้าวไกล
ยืนยันว่าการยื่นญัตติดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การตีรวน แต่เป็นการตรวจสอบการกระทำที่มีความพยายามสอดไส้
เมื่อถามว่า จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เบื้องต้นในที่ประชุมพรรคก้าวไกล เห็นว่าควรใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 ก่อน เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการตีความข้อบังคับ ซึ่งเราไม่อยากให้กระทบกับพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับเราด้วย จึงเริ่มจากช่องทางนี้ก่อน