พาณิชย์เตรียมลงนามมินิเอฟทีเอไห่หนาน 20ส.ค.นี้
จุรินทร์”เตรียมเป็นประธานการลงนาม MOU ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับมณฑลไห่หนาน ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ เผยช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน การจัดกิจกรรมการค้า และการค้าออนไลน์ให้กับ SMEs ส่วนคิวต่อไปรัฐเตลังคานา ของอินเดีย และคยองของเกาหลี
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 20 ส.ค.2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกรทรวงพาณิชย์ มีกำหนดการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับมณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อช่วยในการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการของไทย ซึ่งจะถือเป็น Mini FTA ฉบับที่ 2 ที่จะมีการลงนามกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ลงนามทำ Mini FTA กับจังหวัดโคฟุ ญี่ปุ่นที่จะร่วมมือการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา
สำหรับมณฑลไห่หนาน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดของจีน เป็นจุดสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเปิดในระดับสูงของจีน มีประชากรกว่า 10.8 ล้านคน ซึ่งจีนมีนโยบายพัฒนาให้ไห่หนานเป็นฟรีพอร์ต หรือฮ่องกง 2 การที่ไทยร่วมมือกับไห่หนาน จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) การขยายการค้า ลงทุน การจัดกิจกรรมทางการค้า เช่น การจัดงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และร่วมมือการค้าออนไลน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังได้เร่งรัดให้มีการลงนามใน Mini FTA กับรัฐเตลังคานา ของอินเดีย ในระยะต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจานัดหมาย โดยเตลังคานาถือเป็นรัฐจัดตั้งใหม่ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 9 จาก 28 รัฐของอินเดีย มีประชากรกว่า 39 ล้านคน เป็นรัฐที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีโอกาสทางการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการของไทย
ส่วนการทำ Mini FTA กับจังหวัดคยองกี สาธารณรัฐเกาหลี ได้ตั้งเป้าลงนาม MOU ประมาณเดือนก.ย.2564 โดยจังหวัดคยองกีเป็นเขตปกครองตนเองที่มีประชากรมากที่สุดของสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 13.55 ล้านคน เป็นจังหวัดที่มีรายได้ประชาชาติสูงเป็นอันดับ 1 ในสาธารณรัฐเกาหลี เป็นฐานการผลิตของบริษัทไอทีระดับโลกของสาธารณรัฐเกาหลี และยังมีคนเอเชีย คนอาเซียน อยู่เป็นจำนวนมาก มีความต้องการสินค้าไทย ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน การส่งเสริม SMEs สตาร์ทอัพ การเชื่อมโยงการค้าออนไลน์ การให้สิทธิประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน สิทธิพิเศษทางภาษี เป็นต้น
“การจัดทำ Mini FTA เป็นนโยบายที่นายจุรินทร์ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะเร็วกว่าการเจรจาทำ FTA ที่ต้องใช้ระยะเวลาการเจรจานาน แต่การทำ Mini FTA เป็นความร่วมมือเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการ และเห็นตรงกัน การเจรจาจัดทำ ก็ใช้เวลาไม่นาน และเมื่อทำแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การค้าขยายตัวมากขึ้น เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย”นางมัลลิกากล่าว