สธ. เผย 'ผู้สูงอายุ' 60 ปีขึ้นไป เสี่ยง 'เสียชีวิตจากโควิด' มากที่สุด
สธ. เผยรายงานผู้ 'เสียชีวิตจากโควิด' 1 พ.ค. - 14 ส.ค. 64 จำนวนทั้งสิ้น 6,758 ราย พบว่า ส่วนใหญ่ 'ผู้สูงอายุ' 60 ปีขึ้นไปกว่า 68% เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายป้องกันเสียชีวิต อาการรุนแรง
วันนี้ (15 ส.ค. 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และวัคซีนโควิด 19 โดยระบุว่า ประเทศไทย พบผู้ป่วย โควิด-19 รายใหม่ 21,882 ราย หายป่วย 21,106 ราย เป็นวันที่มีการติดเชื้อเกินสองหมื่นอีกครั้งและการหายป่วยอยู่ระดับใกล้เคียงกัน ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 907,157 ราย
นอกจากการติดตามการติดเชื้อใหม่ ยังดูในส่วนของผู้ป่วยมีอาการหนัก เพราะการติดเชื้อโดยเฉพาะฝั่งตะวันตก การติดเชื้อมากก็จริง แต่คนที่มีอาการมาก จนเข้า รพ. ไอซียู เสียชีวิต เป็นตัวบอกแนวโน้มสำคัญ ส่วนประเทศไทย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 5,615 ราย 1,172 ราย คิดเป็น 20.87% เป็นการใส่ท่อช่วยหายใจใน กทม. 362 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มวันนี้ 209 ราย สะสม 7,458 ราย คิดเป็น 0.85% ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ต้องติดตามต่อเนื่องไป หากมองตัวเลขสะสมตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 7,552 ราย คิดเป็น 0.83%
- สูงวัย โรคเรื้อรัง 'เสียชีวิตจากโควิด' มากที่สุด
สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 209 ราย แบ่งเป็น ชาย 117 ราย หญิง 92 ราย โดยเป็น คนไทย 203 ราย และ เมียนมา 6 ราย เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 137 ราย คิดเป็น 66% และโรคเรื้อรัง อายุน้อยกว่า 60 ปี 48 ราย คิดเป็น 23% รวมทั้งสองกลุ่มเป็นสัดส่วนกว่า 89%
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อไปว่า เป็นเหตุผลที่เน้นย้ำการฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนทุกตัวมีผลต่อการป้องกันเสียชีวิตและอาการรุนแรง ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ มีรายงาน 2 ราย ปัจจัยเสี่ยงภาพรวม คือ โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน และโรคอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 60 ปีขึ้นไป เสียชีวิต 68%
ทั้งนี้ รายงานอายุของผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จากกองระบาดวิทยา 1 พ.ค. – 14 ส.ค.64 ผู้เสียชีวิตทั้ง 6,758 ราย พบว่า ส่วนใหญ่ อายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 68% โดยแบ่งเป็น 70 ปีขึ้นไป 42% ถัดมา คือ 60-69 ปี 24% ขณะที่ อายุ 50-59 ปี 18% , 40-49 ปี 10% , 30-39 ปี 5% และ 20-29 ปี 1%
- ทั่วโลกติดเชื้อ 207 ล้านราย
สถานการณ์ทั่วโลก วันที่ 15 ส.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 535,817 ราย ติดเชื้อสะสม 207,446,049 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 8,511 ราย คิดเป็น 2.10% เสียชีวิตสะสม 4,365,961 ราย การระบาดครั้งนี้ ต้องติดตามต่อเนื่องเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
- อัตราการป่วย - ตาย
อัตราป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน สหรัฐ ยังคงเป็นกลุ่มใหญ่สุด คือ 112,362 ต่อล้านประชากร ขณะที่ไทยอยู่ที่ 12,960 ต่อล้านประชากร ส่วนอัตราตาย สหราชอาณาจักร 1,917 ต่อล้านประชากร สหรัฐ 1,913 ต่อล้านประชากร ขณะที่ไทย อัตราตาย อยู่ที่ 108 ต่อล้านประชากร
"ไทยการติดเชื้อยังสูงและคงตัว เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่มีมาตรการเข้มข้นต่อเนื่องมาในเดือนสิงหาคม พื้นที่ในต่างจังหวัดยอดรวมแต่เดิมอาจจะน้อยกว่ากทม. ปริมณฑล แต่ช่วงหลัง พบว่า การกระจายไปพื้นที่นอก กทม.ปริมณฑล เยอะขึ้น" นพ.เฉวตสรร กล่าว
- ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 23 ล้านโดส
สรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 14 ส.ค. 64 เวลา 18.00 น. ฉีดแล้วรวม 23,476,869 โดส แบ่งเป็น
เข็มที่ 1 จำนวน 17,879,206 ราย
เข็มที่ 2 จำนวน 5,073,672 ราย
- สูงวัย ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 3.7 ล้านคน
ทั้งนี้ หากมาดูข้อมูลจำนวนการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย แยกตามกลุ่มเป้าหมาย สะสมตั้งแต่ 28 ก.พ. - 14 ส.ค. 64 พบว่า กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 3,751,446 คน เข็มที่ 2 จำนวน 299,788 คน เข็มที่ 3 จำนวน 1,403 คน ขณะทีกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 1,975,315 คน เข็มที่ 2 จำนวน 349,805 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 4,148 คน
- รักษาครบ 14 วัน ยังต้องเข้มมาตรการ
ในส่วนของข้อคำถามที่ว่า คนในชุมชนไปรักษาโควิด 10 วัน หรือ 14 วัน และกลับมาในชุมชน น่ากังวลหรือไม่ นพ.เฉวตสรร อธิบายว่า ต้องเรียนว่าในเรื่องแนวทางรักษาดูแลผู้ป่วย ยึดที่ครบ 14 วัน นับจากวันเริ่มป่วยวันแรก เพราะฉะนั้น หากเริ่มป่วย และดูแลใน รพ. อาจจะออกก่อน 14 วัน ต้องกลับมาแยกกัก ให้ครบ 14 วัน เมื่อครบแล้วถือว่าหาย
"องค์ความรู้สำคัญ คือ 14 วัน พ้นจากระยะแพร่เชื้อ แต่ไม่ได้หมายความไม่ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ มาตรการยังเข้มข้นเหมือนเดิม สวมหน้ากกา เว้นระยะ ล้างมือ ทำให้ปลอดภัย หวังว่าพี่น้องประชาชนในชุมชนเข้าใจ ว่าวิถีนิวนอมอล ที่เราต้องใช้ชีวิตในกรณีที่อาจจะเกิดเจอโควิดในชุมชนเป้นระยะในจุดนั้น จุดนี้ ตวสมเข้าใจเป้นจุดที่สำคัญมาก ขอให้มั่นใจ"
- หายแล้วไม่จำเป็นต้องตรวจเชื้อ
อีกข้อคำถามหนึ่ง คือ เมื่อรักษาแล้ว ต้องตรวจให้เจอว่าไม่มีเชื้อหรือไม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า แนวทางเขียนไว้ชัดเจนมาก ว่า ไม่ได้แนะนำให้มีการตรวจ เพราะเรื่องของการตรวจและไม่เจอเชื้อ กรณีของโควิด อาจจะมีซากเชื้อปริมาณน้อย ที่อาจตรวจเจอได้นานกว่า 14 วัน แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะแพร่หาคนอื่น เป็นซากเชื้อไม่สามารถแพร่ต่อได้ เป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับนานาประเทศที่ดำเนินการอยู่
"สำหรับการดูแลรักษา หากเจอเชื้อ แต่ร่างกายปกติแข็งแรงดี ก็สามารถใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล ถือว่ามีความปลอดภัยกับชุมชน เพราะฉะนั้น อย่าได้รังเกียจ เพราะทุกคนจะต้องใช้ชีวิตในช่วงที่มีโควิดต่อไปให้ได้" นพ.เฉวตสรร กล่าว