“เอ็นอาร์เอฟ” รุกซื้อกิจการในสหรัฐฯ สานรายได้ 4,000-5,000 ลบ.
'แพลนท์เบสฟู้ด' ยังส่งสัญญาณโต 'เอ็นอาร์เอฟ' ปักฐานโรงงานทุกภูมิภาคทั่วโลก ป้อนตลาด ,เดินหน้าลงทุน 2,000 ล้านบาท ซื้อกิจการเอสเอ็มอีในสหรัฐ คาดปิดเพิ่ม 3 ดีล เน้นแบรนด์ top 5 ยอดขายใน Amazon.com ต่อจิ๊กซอว์อีคอมเมิร์ซ ปรับเป้ารายได้เพิ่มเกือบเท่าตัว
“ธุรกิจอาหาร” ไม่ต่างจากอีกหลายธุรกิจที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่อนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการเรียนรู้ ปรับตัวก้าวให้ทันเทรนด์ใหม่ๆที่เกิดขึ้น หนึ่งในกระแสที่มาแรงยุคนี้ ยกให้อาหารที่มาจากพืชหรือแพลนท์เบส รวมถึงเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง(Cell-Based Meat) รวมไปถึงอาหารสุขภาพต่างๆ
แนวโน้มดังกล่าว ผู้ประกบการต้องหากลยุทธ์เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต และค่ายที่รุกทำตลาดเกาะกระแสดังกล่าวคือ “เอ็นอาร์เอฟ” ซึ่ง แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)ได้วางแนวทางเคลื่อนธุรกิจสู่ปี 2566-2567 สู่โลกอาหารในมิติต่างๆดังนี้
หมากรบแรกการซื้อกิจการที่ “รับประทานได้” สานภารกิจ "อีคอมเมิร์ซ" ผ่าน “ทางลัด” สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ผลักดันรายได้แตะ เป็น 4,000-5,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ที่ 3,000 ล้านบาท ภายในปี 2566-67 จากเดิมตั้งไว้ที่ 3,000 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การบุกอีคอมเมิร์ซ ได้วางงบลงทุน 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)ใน 2 ปีข้างหน้า ส่วนภายในสิ้นปี 2564 จะปิดการซื้อกิจการอีก 3 ดีล จากล่าสุดบริษัทเพิ่งปิดดีลลงทุนไม่เกิน 4.06 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 135 ล้านบาท ในโครงการ WellPath ต่อจากโครงการร Prime Labs และ SOL Trading มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินหลากแบรนด์ เช่น Pure Apple Cider Vinegar Gummies, Boost Elderberry Gummies, และ Vital Turmeric Gummies ทำตลาดอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างอเมซอน(Amazon.com)
“เราจะเน้นทำตลาดในสหรัฐฯ เพราะท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด สหรัฐฯมีนโยบายฉีดวัคซีนและเปิดประเทศ เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวขึ้น ส่วนจีน 3 ปีข้างหน้าวางนโยบายให้โควิดเป็นศูนย์ จึงต้องปิดประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นการบริโภคในประเทศ แต่จากคาดการณ์โควิดสายพันธุ์เดลต้าใหม่ๆ จะมีอัตราการติดเร็วขึ้นพันเท่า สะท้อนว่าอนาคตคนทั้งโลกอาจติดโควิด ดังนั้นการเจาะตลาดสหรัฐฯจึงดีต่อบริษัท”
สำหรัการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจให้เติบใหญ่ บริษัทจะนำสินค้าพืชกัญชา-กัญชง(สารซีบีดี)ที่เพาะปลูกในจังหวัดขอนแก่นราว 40 ไร่ ไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ ส่วนสินค้าที่ได้จากการซื้อกิจการในสหรัฐฯ จะนำมาทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตองค์การอาหารและยา รวมถึงการนำสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยไปบุกตลาดโลกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าขยายฐานผลิตแพลนท์เบสทุกภูมิภาค เพื่อเสิร์ฟผู้บริโภคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ มีกำลังการผลิตใหญ่สุดราว 3,600 ตันต่อวัน จีน 1,500-3,000 ตันต่อวัน สหรัฐฯ กำลังผลิตใกล้เคียงอังกฤษ และโรงงานผลิตโปรจีนจากพืชในไทย ซึ่งร่วมทุนกับ “ปตท.” คาดว่าจะแล้วเสร็จปีหน้า เฟสแรกมีกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อวัน
สำหรับแนวโน้มแพลนท์เบส ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในประเทศไทยการสำรวจบนชั้นวางสินค้า(เชลฟ์)ของห้างค้าปลีกต่างๆพบว่าจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว จาก 10 รายการ(เอสเคยู) ปัจจุบันมีมากถึง 40 เอสเคยู ส่วนการเติบโตอยู่ในอัตรา 100% ต่อเนื่อง โดยตัวแปรสำคัญที่จะบูมตลาดแพลนท์เบส คือการเข้ามาของ "เครือซีพี" ซึ่งพัฒนาสินค้าเจาะตลาดทั่วไปหรือแมส ต่างจากบริษัทที่เน้นตลาดบน
ส่วนต่างประเทศผู้บริโภคหันมาซื้ออาหารแพลนท์เบสมากขึ้น เช่น สหรัฐฯราว 51-53% ของครัวเรือน ซื้อแพลนท์เบสเข้าบ้าน ออสเตรเลีย 20% ของประชากรเป็นผู้บริโภคทานมังสวิรัติหรือวีแกน เป็นต้น
นอกจากนี้ คาร์กิลล์ยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของโลกคาดการณ์ 10 ปีข้างหน้า อาหารประเภทโปรตีนจากสัตว์จะถูกดิสรัปอย่างมากจาก เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ซึ่งบริษัทพร้อมผลิตสินค้าดังกล่าว โดย 3 ปีแรก ราคาขายจะสูง 400-500 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ในปี 2568 ราคาจะต่ำเหลือ 300 บาทต่อกก.
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังยกเครื่องการผลิตอาหารให้สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลก ลดผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน จากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น และประเทศที่พัฒนาไม่ว่าจะเป็นตลาดสหภาพยุโรป(อียู) และสหรัฐฯ จะใช้เงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าขาย ส่วนผู้บริโภคที่ตระหนักประเด็นดังกล่าว จะเลือกซื้อสินค้าที่กระบวนการผลิตกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าแบรนด์ที่ไม่ใส่ใจเรื่องนี้
“ใน 2 ปีข้างหน้า บริษัทจะลงทุนขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยจะเน้นซื้อกิจการของเอสเอ็มอีในสหรัฐฯ ที่มีสินค้าขายดีท็อป 5 บนเว็บไซต์ Amazon.com รวมถึงพัฒนา Cell-Based Meat ซึ่งจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารครั้งใหญ่ แผนดังเหล่านี้จะส่งผลให้รายได้ปี 2566-67 แตะระดับ 4,000-5,000 ล้านบาท มีรายได้จากอีคอมเมิร์ซและทวีปอเมริกาเหนือสัดส่วน 50% จากสิ้นปีนี้สัดส่วน 20% ที่เหลือเป็นรายได้จากอาเซียน 25% และยุโรป 25%”