“ณัฐวุฒิ-สมบัติ” ฟันธง คฝ.VSม็อบ รัฐบาลเสียเครดิต-ม็อบถดถอย

“ณัฐวุฒิ-สมบัติ” ฟันธง คฝ.VSม็อบ รัฐบาลเสียเครดิต-ม็อบถดถอย

“หากคนในรัฐบาลไม่พึงพอใจกับสถานการณ์ความรุนแรง ต้องออกมาแสดงท่าที ต้องออกมาปรามว่าเจ้าหน้าที่อย่าเกินเส้น ไม่อยากให้เห็นเลือด ไม่อยากเห็นความรุนแรง แต่กลับไม่มีท่าทีของนายกฯ ไม่มีท่าทีของคนในรัฐบาล”

สถานการณ์การชุมนุมของ “ม็อบไร้แกนนำ” ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ส.ค.64 ออกนัดหมายวันไหน การชุมนุมนำไปสู่ความรุนแรงทุกครั้ง การปะทะกันระหว่าง “ตำรวจควบคุมฝูงชน” VS “ม็อบไร้แกนนำ” กำลังกลายเป็นภาพที่ชินตา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายมีแต่เสีย “เจ้าหน้าที่รัฐ” เสียภาพลักษณ์การควบคุมการชุมนุมด้วยการใช้ความรุนแรง “ม็อบไร้แกนนำ” เสียมวลชนที่เคยสนับสนุน เสียแนวร่วมที่เคยยืนหยัดในการชุมนุมแบบสันติ

“ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำ นปช. และ “สมบัติ บุญงามอนงค์” บก.ลายจุด ได้ให้สัมภาษณ์ “ดนัย เอกมหาสวัสดิ์” ในรายการ "สุดกับหมาแก่" เนชั่นทีวี 22 และ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ช่อง MCOT ถึงทิศทางการเคลื่อนของ “ม็อบไร้แกนนำ” และการเคลื่อนขบวน "คาร์ม็อบ" อย่างน่าสนใจ

"ณัฐวุฒิ" กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจะเดินต่อในเส้นทางที่เราไม่เคยเดินมา ที่ผ่านมา 15 ปีแห่งความขัดแย้ง เราถูกบีบให้เดินทางเดียว คือการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีนอกระบบ แล้วออกกติกาเอื้อกับอีกฝ่ายหนึ่ง พร้อมกับลดทอนศักยภาพอีกฝ่ายหนึ่ง

“หากไม่อยากดูหนังม้วนเดิม เราต้องเดินไปอีกทาง เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติ ให้กลไกทางประชาธิปไตยทำงานอย่างเต็มที่ที่สุด ไม่เช่นนั้นจะวนเวียนเหมือนเดิมอย่างแน่นอน ความรุนแรงของม็อบช่วงต้นเดือนสิงหาคม เหมือนหนังม้วนเดิมที่ฉายวน เพียงแต่เปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจเท่านั้นเอง ดังนั้นต้องตั้งหลักที่หลักการก่อน แล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงผลที่ออกมาได้”

เขายังมองว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้มีอำนาจไม่ได้ถอดบทเรียนเลย ทำอย่างเดิมจนผลแบบเดิมเกิดขึ้น การแสดงออกเกินเลยเส้น ผู้รับผิดชอบต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายประชาชนเองก็ต้องเรียนรู้ว่าสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากันจะนำไปสู่อะไร 

"เท่าที่ผมสังเกตมันเลยจุดพอดีไปแล้ว สมัยผม ผมไม่เคยเห็นตำรวจไล่ยิงด้วยกระสุนยาง แต่การชุมนุมช่วงหลังมีทุกครั้ง ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อไปถึงจุดเปราะบาง จะมีบางส่วนที่อารมณ์นำไป แนวหน้ากับแนวหลังสื่อสารไม่ได้ และการสื่อสารการชุมนุมผ่านออนไลน์ มันทำหน้างานไม่ได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่จะต้องนำมาพิจารณา”

"ณัฐวุฒิ" กล่าวต่อว่า การชุมนุมไม่มีแกนนำมันก็มีข้อดี มันคล่องตัว แต่ถึงวินาทีคับขันมันทำไม่ได้จริง ไม่รู้ใครต้องฟังใคร แต่การชุมนุมจะมีหรือไม่มีแกนนำ ไม่ใช่เรื่องผิด ตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่ ที่มีระเบียบปฏิบัติ เมื่อผู้ชุมนุมไม่มีแกนนำ เจ้าหน้าที่ต้องเข้มแข็ง และต้องเต็มไปด้วยความรับผิดชอบ

“หากคนในรัฐบาลไม่พึงพอใจกับสถานการณ์ความรุนแรง ต้องออกมาแสดงท่าที ต้องออกมาปรามว่าเจ้าหน้าที่อย่าเกินเส้น ไม่อยากให้เห็นเลือด ไม่อยากเห็นความรุนแรง แต่กลับไม่มีท่าทีของนายกฯ ไม่มีท่าทีของคนในรัฐบาล” 

ณัฐวุฒิมองความเสี่ยงว่า กรณีการชุมนุมไม่มีแกนนำ จะทำให้มีโอกาสเกิดความรุนแรงขึ้นได้ง่ายกว่า กลุ่มนปช. คนเสื้อแดงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและลึกซึ้งกว่า แต่ขบวนของคนหนุ่มสาวไม่มีการจัดตั้ง การฟังกันจึงไม่มี เมื่อขบวนเป็นแบบนี้ เขาจึงไม่ฟังแกนนำ ผมคิดว่าขบวนนี้จะมีพัฒนาการมากขึ้น เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างสร้างเงื่อนไข

“สิ่งที่เกิดขึ้นหลายวันนี้มานี้ ผมเชื่อว่าผู้มีอำนาจอยากได้แบบนี้ เพราะไม่เห็นห้าม อย่าปล่อยให้ผู้มีอำนาจใช้เสียงระเบิด เสียงประทัด บดบังเสียงร่ำไห้ของประชาชน จากความไร้ความสามารถของรัฐบาล” ณัฐวุฒิ ระบุ

ขณะที่ "สมบัติ บุญงามอนงค์" หรือ บก.ลายจุด กล่าวว่า ขอตั้งสมมุติฐานว่าเหตุใดตำรวจจึงไม่จับมือเปิด เหมือนมีความเป็นอภิสิทธิ์ชนให้มือเปิด ตำรวจไม่จับคนก่อเหตุก่อน แต่กลับจับกุมคนที่เข้าพื้นที่ทีหลัง โดยเฉพาะคนที่ร่วมเดินขบวนมา ซึ่งพวกมือเปิดไม่ได้อยู่ในขบวนเลย แต่เหมือนมาเปิดงานอย่างเดียว

สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคาร์ม็อบ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ส่วนตัวมองว่าเราสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามที่ออกแบบกันเอาไว้ แต่เมื่อเรายุติการชุมนุม และมีคนไปชุมนุมต่อที่สามเหลี่ยมดินแดง มันทำให้สถานการณ์กลับสู่วังวนเดิม ซึ่งเราต้องมาถอดบทเรียนกันอีกครั้ง

“ตอนนี้ต้องยอมรับว่าบ้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ที่อยู่ใน ร.1 ทม. รอ. เป็นพื้นที่ทางสัญลักษณ์ไปแล้ว วันนี้(16ส.ค.) กลุ่มทะลุฟ้าก็ประกาศจะเดินทางไปชุมนุมที่บ้าน พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เป็นที่รับรู้ได้ว่าพื้นที่หน้าบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นพื้นที่สัญลักษณ์ทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว เป็นที่การชุมนุมอย่างเป็นทางการ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะพิสูจน์แล้วว่าต่อให้มีความพยายามดึงขบวนออกจากพื้นที่ดังกล่าว แต่มวลชนยังมุ่งมั่นไปยืนหน้าบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อสร้างการรับรู้”

เมื่อถามว่า กลุ่มที่แยกขบวนไปชุมนุมที่แยกดินแดงเป็นกลุ่มใด เป็นกลุ่มของ ม่อน อาชีวะ หรือไม่ "สมบัติ"กล่าวว่า เป็นไปได้ที่จะเป็นกลุ่มอิสระจริง แต่ตนไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากไม่ทราบจริงๆ ส่วนณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคาร์ปาร์ก ก็พยายามเข้าห้ามไม่ให้คนเข้าไปเพิ่มในพื้นที่ เพราะหากมีคนอยู่หน้าแนวปะทะจำนวนมากจะอันตราย ณัฐวุฒิจึงห้ามไม่ให้คนไปเติม และโน้มน้าวดึงมวลชนกลับจากแนวปะทะ

“ณัฐวุฒิ สามารถห้ามไม่ให้คนไปเติมในแนวปะทะได้ระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากม็อบไม่มีแกนนำ มวลชนจะไม่รู้แนวเส้นทาง คนจะชุลมุน และอันตรายมาก ขณะที่ตำรวจจะรู้สึกถึงความหนักหน่วง จึงต้องใช้อุปกรณ์ยิงออกมาเพื่อจะสลายการชุมนุม แต่หากมีคนเบาบางลง การดำเนินการของตำรวจก็จะอีกระดับหนึ่ง”

"สมบัติ" กล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่จะไปชุมนุม ทางตำรวจและณัฐวุฒิได้มีการคุยกัน เพื่อหาจุดเชื่อม หากเกิดเหตุการณ์ชุลมุน ซึ่งณัฐวุฒิถือเป็นจุดเชื่อม และมีการสื่อสารกับตำรวจตลอดเวลา โดยจะไม่มีการดำเนินการใดๆ หากไม่มีการหารือกัน

อย่างไรก็ตามพื้นที่แนวปะทะ ตำรวจเคลื่อนออกมาเลยแยกราชปรารภ ช่วงค่ำจึงถือเป็นการสลายการชุมนุม ไม่ใช่การตั้งแนวรับการชุมนุม แต่ต้องยอมรับว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ส.ค.64 มันมีการเลยเส้นกันของทั้งสองฝ่าย

“ผมจะหารือณัฐวุฒิ เพื่อถอดบทเรียนการชุมนุม การม็อบในปัจจุบันมีความเป็นธรรมชาติสูงมาก หากใครคนหนึ่งประกาศให้ชุมนุม ก็จะมีคนพร้อมชุมนุม จนกว่าจะเดินไปหน้าบ้านของ พล.อ.ประยุทธ์ได้”

“ผมมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผลต่อขบวนใหญ่ของการชุมนุมอย่างแน่นอน เพราะฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะถอยห่างออกมา คนที่เคยเข้าร่วม คนที่มีโอกาสจะเข้าร่วม อาจจะปฏิเสธการเข้าร่วมขบวนการชุมนุม ดังนั้นมันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้ ไม่เป็นประโยชน์ต่ออะไรเลย สิ่งที่ต้องทำคือการรักษาบรรยากาศการชุมนุมอย่างสันติ” บก.ลายจุด เจ้าของไอเดียคาร์ม็อบสรุป