รฟม.ดึง ‘คลัง’ ร่วมประมูลสีส้ม ส่งตัวแทนเป็น คกก.ข้อตกลงคุณธรรม
รฟม.ลุยประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดึงกระทรวงการคลังเข้าร่วม ส่งตัวแทนทำข้อตกลงคุณธรรม หวังตอกย้ำเดินหน้าโครงการโปร่งใส ตั้งเป้าขายซองรอบใหม่ ต.ค.นี้ ขณะที่ “บีทีเอส” ยังลุ้น 3 คดี ฟ้องร้องปรับเงื่อนไขประกวดราคา
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แถลงประเด็นร้อนเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังจากศาลปกครองสูงสุดตัดสินยืนตามศาลปกครองกลามีคำสั่งงจำหน่ายคดีบางข้อหา เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา
โดย รฟม.ได้แถลงถึงความคืบหน้าแผนดำเนินงานประกวดราคาโครงการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ยังติดหล่มอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคารอบใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคา และเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างเอกสารประกวดราคาฉบับใหม่ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
แต่ระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 5 เดือน รฟม.ยังไม่สามารถประกาศเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ฉบับใหม่ได้ โดยการแถลงข่าวในครั้งนี้ ได้ชี้แจงถึงเหตุผลว่า “การคัดเลือกเอกชนสายสีส้มครั้งใหม่ ที่เปิดรับฟังความเห็นเอกชนไปแล้ว แต่เนื่องด้วยโควิดทำให้ไม่สามารถจัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 เพราะการประชุมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่บังคับใช้กับกรณีของโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนนี้ ทำให้เราไม่สามารถจัดประชุมออนไลน์ได้” นายภคพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ เริ่มมีความหวังอีกครั้ง เนื่องจาก รฟม.ได้ดำเนินการตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ที่เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ปราศจากข้อครหาในการดำเนินงาน รฟม. จึงได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 เสนอคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตเพื่อพิจารณาบรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)
“ตอนนี้ รฟม.ได้ดำเนินการตามมติ ครม. ที่ให้เข้าร่วมการใช้ข้อตกลงคุณธรรม เราจึงมีหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อบรรจุสายสีส้มเข้าข้อตกลงคุณธรรม และกำลังรอหนังสือตอบกลับ เพื่อนำตัวแทนเข้ามาร่วมสังเกตุการณ์ ดังนั้นต้องรอหนังสือจากกระทรวงการคลังตอบรับเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม และส่งรายชื่อผู้ร่วมสังเกตุการณ์มาให้ รฟม.ก่อน จึงจะจัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 และพิจารณาทีโออาร์ครั้งใหม่”
สำหรับหลักเกณฑ์ที่ รฟม.จะนำมาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งนี้ ผลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชนในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีเอกชนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการใช้คะแนนทางด้านเทคนิค 30% พิจารณาควบคู่กับคะแนนราคา 70% ซึ่งเรื่องดังกล่าว จะกำหนดใช้หลักเกณฑ์อย่างไร ก็คงต้องรอคณะกรรมการตามมาตรา 36 เป็นผู้พิจารณา
นายภคพงศ์ เผยด้วยว่า ส่วนตัวตั้งใจอยากให้มีการออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและขายซองครั้งใหม่ภายในเดือน ต.ค.นี้ และจะใช้ระยะเวลา 60 วันก่อนเปิดซองประมูล คาดว่าภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2565 จะได้เอกชนผู้ชนะประมูล ซึ่งในขั้นตอนตรงนี้อาจล่าช้ากว่าแผน เพราะต้องรอสถานการณ์โควิดว่าคลี่คลายหรือไม่
ขณะที่ความล่าช้าของการประกวดราคา ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีผลต่อการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.ยังมีเป้าหมายที่จะเร่งรัดเอกชนผู้ชนะการประมูลเริ่มดำเนินโครงการให้เร็วที่สุด เพราะโครงการนี้ล่าช้าจากโควิด และการใช้สิทธิตามกระบวนการศาลมาเป็นเวลานาน โดยจะเร่งรัดให้เอกชนเริ่มติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าของช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาในทันที เพื่อให้เปิดบริการตามกรอบกำหนดเดิมในกลางปี 2568 ส่วนช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ จะเปิดให้บริการหลังจากนั้นไปอีก 3 ปี หรือราวปี 2571
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เผยว่า ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดจากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครอง (อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหาเพราะเหตุแห่งการฟ้องคดีหมดสิ้นไป) บีทีเอสในฐานะผู้ยื่นฟ้องรับทราบข้อพิจารณาดังกล่าว ซึ่งยอมรับว่าไม่เหนือความคาดหมาย
อย่างไรก็ดี การยื่นฟ้องระหว่างบีทีเอส และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัจจุบันยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 3 คดี
โดยแบ่งเป็น คดีตามกระบวนการศาลปกครอง 2 คดี คือ คดีเกี่ยวกับกรณีการยกเลิกประกวดราคา ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการชี้แจงข้อมูล และคดีที่เกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี อีกทั้งยังมีคดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอนัดไต่สวน