“บิ๊กนัต”ชี้เป็นสิทธิ์“บิ๊กแอร์”รื้อ3โครงการทอ.-ย้ำLINK-THใช้งานได้จริง

“บิ๊กนัต”ชี้เป็นสิทธิ์“บิ๊กแอร์”รื้อ3โครงการทอ.-ย้ำLINK-THใช้งานได้จริง

“บิ๊กนัต” แจง กมธ.ป.ป.ช.ปมถูกรื้อ 3 โครงการยักษ์ ทอ. ย้ำเดิมตั้งโครงการตามหลักยุทธศาสตร์-พึ่งพาตนเอง ระบุ LINK-TH จำเป็น-ใช้งานได้จริง ชี้พัฒนามามากกว่า 10 ปี มั่นใจที่ทำไว้ถูกต้องตาม กม. โนคอมเมนต์มีนอกมีในหรือไม่ ชี้เป็นสิทธิ์ ผบ.ทอ.ปัจจุบัน

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.64 ได้เข้าร่วมชี้จงข้อมูลต่อ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน ซึ่งมีการพิจารณาตรวจสอบการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3 โครงการ มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2), โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ ที่มีการปรับปรุงขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และขอบเขตของงาน (TOR) เข้าข่ายไม่เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ) หรือไม่

พล.อ.อ.มานัต กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้สอบถามถึงที่มาที่ไปของทั้ง 3 โครงการมีการแก้ไข TOR รวมไปถึงยืนยันเจตนารมณ์ตามแนวทางจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) ตลอดจนสมุดปกขาวกองทัพอากาศ (RTAF White Paper) พ.ศ.2563, หลักนิยมกองทัพอากาศ พ.ศ.2562, ยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563)

และแนวความคิดในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ ซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงที่ตนเป็น ผบ.ทอ. อันเป็นแกนหลักที่ ทอ.ในการดำเนินโครงการต่างๆของ ทอ.มาตลอดมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเอง และตามแผนการ ทอ.ที่ต้องการมีระบบที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเราเอง สามารถแก้ไขพัฒนาต่อยอดได้

พล.อ.อ.มานัต กล่าวต่อว่า ต้องทำความเข้าใจว่าทั้ง 3 โครงการ คือ N-SOC C2, GBAD และวิทยุ นั้นมีแกนกลางร่วมกันคือระบบ LINK-TH (ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับเครื่องบินที่สั่งการโดยภาษานักบินรบไทย) ถือเป็นก้านสมองของทั้ง 3 โครงการดังกล่าว ทุกอย่างต้องถูกวางไว้บน LINK-TH เพื่อให้เป็นระบบและสามารถทำงานได้จริง ที่สำคัญคือกรรมสิทธิ์ทั้งหมดเป็นของ ทอ. โดยก่อนที่จะมีชื่อเป็นทางการว่า LINK-TH ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการใช้ Alpha Jet เป็นฝูงบินต้นแบบ บุคลากรของ ทอ.ทุ่มเทกับโครงการนี้มาก

"แต่ทาง กมธ.ป.ป.ช.ก็ให้ข้อมูลว่าผู้แทน ทอ.ที่มาชี้แจงก่อนหน้านี้ ได้ระบุว่าระบบ LINK-TH ยังไม่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งตนก็ไม่ได้ไปแย้งตรงนั้น เพียงแต่เล่าข้อเท็จจริงถึงเนื้องาน และการมีส่วนร่วมของตนตั้งแต่ก่อน จนถึงช่วงที่ตนเป็น ผบ.ทอ.ว่า ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2551 และปัจจุบันก็มีของจริงที่ใช้อยู่กับเครื่องบิน Alpha อยู่"

พล.อ.อ.มานัต ขยายความถึงระบบ LINK ด้วยว่า เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับเครื่องบินนั้นทุกชาติควรจะมีเป็นของตัวเอง การมี LINK มากมายหลากหลายไม่สามารถที่จะนำระบบทุกระบบมารวมกันได้ ระบบสั่งการต่างๆจะยุ่งยากมาก หรือทำไม่ได้เลย ก็ควรที่จะมีระบบหรือ LINK เดียวกัน เหมือนมนุษย์มีสมองเป็นระบบสั่งการ จะสั่งการไปที่เส้นประสาท หรือสั่งการอวัยวะต่างๆ ก็มาจากก้านสมองก้านเดียว ไม่สามารถแยกหลายระบบได้ เช่นเดียวกับเครื่องบินรบ ที่หากใช้ LINK ต่างกัน ระบบสื่อสารก็ต่างกัน ถึงเวลาปฏิบัติภารกิจต้องแปลภาษาจาก LINK หนึ่งเป็นอีก LINK หนึ่ง ย่อมเป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติ

อดีต ผบ.ทอ. กล่าวต่อว่า ความจำเป็นในการกำหนดแนวทาง P&D รวมถึงการยึด LINK-TH เป็นแกนกลางของโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้น เพื่อตอบยุทธศาสตร์ ทอ. รวมไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ ที่สะท้อนไปจนถึง SOPR และ TOR ว่าทำกันอย่างไร มีเจตนารมณ์เช่นไร ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นหากมีการแก้ไขสาระสำคัญของโครงการที่กำหนดไว้เแล้วว่า จะมีผลกระทบไปถึงหลายโครงการที่วางแผนงานมาหลายปีแล้วว่า ระบบ LINK-TH ต้องเกิดในปี 2564-65 ทั้งนี้ วิธีการงบประมาณของประเทศมีการจัดทำล่วงหน้า เมื่อผ่านออกมาเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้วก็จะเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก่อนที่จะเบิกจ่ายงบประมาณได้ต้องมีการตั้งโครงการ มีการเขียนแนวความคิดความต้องการของโครงการ (COPR) ในการจัดหาหรือการปรับปรุงขีดความสามารถยุทโธปกรณ์ ที่สอดคล้องกับ SOPR ก่อนจะมาเป็น TOR

ทั้งนี้หากมีการแก้ไขก็ต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่สอดคล้องกัน ที่สำคัญต้องตรงกับข้อเท็จจริงที่ ทอ.นำเสนอในการของบประมาณรายจ่ายประจำปีกับฝ่ายนิติบัญญัติด้วย ซึ่งก็มีข้อสังเกตการณ์การแก้ไข SOPR และ TOR ของ 3 โครงการที่ ทอ.ดำเนินการอยู่นั้นเป็นการแก้เพียงจุดใดจุดหนึ่งที่ปลายทางเท่านั้น

“เราทำโดยกระบวนการทางกฎหมายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก็ต้องถามว่าการแก้ไข SOPR และ TOR ของ 3 โครงการได้ทำอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำหรือไม่ หรือแก้ไขเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น เหมือนต้นไม้ต้นใหญ่ที่ถูกตัดปลายรากแก้วที่ไม่นานก็ยืนต้นตาย” พล.อ.อ.มานัต ระบุ

ต่อข้อถามว่า การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการในลักษณะนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ พล.อ.อ.มานัต กล่าวเพียงว่า เรื่องนี้ต้องรอให้ทาง กมธ.ป.ป.ช.สรุปผล และแจ้งให้สาธารณะทราบ รวมไปถึงกระบวนการในการตรวจสอบในส่วนอื่นๆด้วย

เมื่อถามว่า การที่ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน กำลังจะเกษียณอายุราชการในช่วงเดือน ก.ย.64 ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะมีผลถึงการดำเนินของทั้ง 3 โครงการหรือไม่อย่างไร พล.อ.อ.มานัต กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องไปว่ากันในส่วนของผู้ที่ยังอยู่ในราชการ ส่วนตนเกษียณอายุราชการแล้วคงให้ความเห็นในส่วนนี้ไม่ได้

เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการที่ขณะนี้ทราบว่ายังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่อีกเพียง 2 เดือนเศษก็จะสิ้นปีงบประมาณ 2563 ก็ต้องติดตามว่าทาง ทอ.จะดำเนินการอย่างไร และเมื่อได้ ผบ.ทอ.คนใหม่ ก็ต้องดูว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพราะแต่ละคนก็มีสิทธิ์ นโยบาย และแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน

“ในความเป็นจริง ผบ.ทอ.เป็นหน้าที่กำกับเท่านั้น ออกนโยบายได้เฉพาะในขอบเขตของหน้าที่ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของต้นน้ำที่มียุทธศาสตร์ หลักนิยม สมุดปกขาว ทอ. แผนงานโครงการที่กำหนดไว้เป็นแผนระยะยาวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นแกนขององค์กรที่ ทอ.เปิดเผยโปร่งใส ผบ.ทอ.มาแล้สก็ไป แต่สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่กับ ทอ.ต่อไป” อดีต ผบ.ทอ.กล่าว

พล.อ.อ.มานัต กล่าวด้วยว่า อีกทั้งยังมีหลักปฏิบัติในเรื่อง P&D ที่ยึดโยงจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการกำหนดอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ 11 หรือ New S-curve 11 และอยู่ในนโยบายของกระทรวงกลาโหม ในการสร้างงาน สร้างห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจได้มากมาย”

“ทั้งหลายทั้งปวงการแก้ไขปรับปรุงโครงการใดๆของ ทอ. ก็ถือเป็นแนวนโยบาย และสิทธิ์ของ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องของมุมมองที่ต่างกัน แต่เมื่อ 2 แนวทางไม่เหมือนกัน ผู้แทน ทอ.ที่ได้รับมอบหมายจาก ผบ.ทอ.คนปัจจุบันชี้แจงไปทางหนึ่ง ส่วนผมที่เป็นอดีต ผบ.ทอ.ชี้แจงไปอีกทางหนึ่ง เมื่อ 2 ข้อมูลไม่ตรงกัน ก็ต้องมีอันใดอันหนึ่งที่ผิด และอันใดอันหนึ่งที่ถูก เชื่อว่าเมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้ว ก็จะมีความกระจ่างว่าใครถูกใครผิด” พล.อ.อ.มานัต กล่าวทิ้งท้าย